xs
xsm
sm
md
lg

คลังรื้อร่างภาษีที่ดินใหม่ 4 อัตรา ชงครม.ไฟเขียวมี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการพิจารณาร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ได้หารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ถึงรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องแก้ไขรายละเอียดอีกมากจึงต้องใช้เวลาพิจารณาเพิ่มเติม คาดว่าจะสรุปให้ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาและเห็นชอบภายในเดือนมีนาคม ขณะนี้ได้รายงานนายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว

โดยมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลง คือ อัตราภาษี 4 อัตรา ที่แบ่งแยกอย่างชัดเจน ประกอบด้วย ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม,ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย,ที่ดินเพื่อการพาณิชย์,ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยจะกำหนดอัตราเพดานเรียกเก็บใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งระดับเพดานจะมีช่วงห่างของอัตราภาษีให้ต่ำลงอยู่ที่ 3-4 เท่า ของอัตราการจัดเก็บที่แท้จริง จากขณะนี้มีช่วงห่างของอัตราภาษีสูงเกินไปที่ 8-9 เท่า เพราะต้องการดูแลคนในชนบทพื้นที่ห่างไกล เช่น จ.แม่ฮ่องสอน และพิจารณาถึงความยุติธรรมของรายได้ในต่างจังหวัด อาจไม่มากเท่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงจะพิจารณามูลค่าของที่ดิน ที่จะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีใหม่ เช่น การยกเว้นมูลค่าของที่ดินเกษตร มูลค่าของที่ดิน 15-25 ไร่ เช่นเดียวกับบ้านที่อยู่อาศัย จะพิจารณามูลค่าบ้านให้ต่ำกว่า 2 ล้านบาท และในส่วนของที่ดินว่างเปล่า ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องพิจารณาเช่นกัน

“ ขณะนี้กระทรวงการคลัง รับฟังเสียงสะท้อนทุกปัญหาที่เกิดขึ้น และกำลังพิจารณาอย่างระมัดระวัง ขอเรียนประชาชน อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะตอนนี้ยังไม่พูดรายละเอียดเรื่องอัตราภาษีเก็บจริงและเพดานภาษีแต่ละประเภทที่ดิน แต่มีแนวคิดในหลักการที่ว่า ที่ดินปลูกบ้าน 80-100 ตารางวา มีรถโตโยต้า 1 คัน มีลูก 2 คน จะเสียภาษีที่ดินฯ ไม่มากกว่าที่จ่ายภาษีรถยนต์แน่นอน ผมมองว่าคนไทยไม่นิยมเสียภาษีให้รัฐ ทุกคนอยู่ทุกวันนี้ยากจนลำบาก รัฐก็ต้องช่วย หรือคนหนุ่มสาวต้องใช้สาธารณูปโภคจากเม็ดเงินภาษี จึงอยากให้ตระหนักเรื่องปฎิรูปภาษี ผมจะทำให้จบในเดือนกันยายน”

สำหรับอัตราภาษีตามกฎหมายนี้ กำหนดเพดานไว้ 4 อัตราคือ อัตราภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร จะเก็บสูงสุดไม่เกิน 0.5 % ,อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย จะเก็บไม่เกิน 1 % ,ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการพาณิชย์ เก็บไม่เกิน 4 % และที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควร เก็บในอัตราไม่เกิน 4 % โดยกระทรวงการคลัง คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลในปี 2560 หลังจากที่กรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการประเมินราคาที่ดินรายแปลง ที่ใช้เป็นฐานการประเมินภาษีเสร็จสมบูรณ์แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้แล้วจะยกเลิก กฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ และกฎหมายภาษีโรงเรือน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว มีปัญหาหลายประการในทางปฏิบัติ เช่น ภาษีโรงเรือนที่เก็บในอัตรา 12.5 % ของค่าเช่า เกิดความเหลื่อมล้ำในการคิดอัตราภาษีที่ต่างกัน สำหรับโรงเรือนแบบเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน,มีการผลักภาระภาษีให้กับผู้เช่า ,ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ มีการกำหนดค่าลดหย่อน ทำให้ที่ดินตั้งแต่ 50 ตร.ว. จนถึง 5 ไร่ ได้รับยกเว้นภาษี รวมถึงอัตราภาษียังเป็นอัตราถดถอย กล่าวคือ ที่ดินที่มีราคาประเมินสูง เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ดินที่มีราคาประเมินต่ำกว่า จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

นายสมหมาย กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะให้ อปท. เป็นผู้เก็บภาษี โดยมีรัฐบาลช่วยดูแล ซึ่งภาษีดังกล่าวจะมาเก็บแทนภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินเดิมที่ทาง อปท.เก็บได้ปีละ 50,000-60,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าต่ำเกินไป ทำให้รัฐบาลใช้เงินงบประมาณอุดหนุนท้องถิ่นปีละ 250,000 ล้านบาท ซึ่งการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะทำให้ลดภาระของรัฐบาล จะได้อุดหนุนน้อยลง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับปรุงภาษีทั้งระบบนั้น ที่ผ่านมาไม่เคยปรับปรุงมาก่อน โดยรวมสิ่งปลูกสร้างก็ไม่เคยเสียภาษี ซึ่งต้องเสียภาษีกันบ้าง ล่าสุดเรื่องนี้ยังอยู่ที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ จึงไม่อยากให้กังวลว่า จะเดือดร้อนใคร บางอย่างยังไม่เกิด แต่จะไปเกิดในรัฐบาลต่อไป เมื่อกฎหมายเรียบร้อยถึงจะออกมา จะผ่านกรรมาธิการหรือเปล่าก็ไม่รู้ก็ต้องไปแก้ไขกัน เพราะมีคณะกรรมาธิการถึง 3 คณะที่ออกกฎหมายแต่ละฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น