xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ไฟเขียวกลุ่มการเมืองส่งคนลงเลือกตั้ง ส.ส.ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในหมวดที่ 1 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี และหมวด 3 รัฐสภา ว่า เมื่อคืนวานนี้ (23 ก.พ.) มีการพิจารณาผ่านพ้นไปแล้ว 12 มาตรา โดยประเด็นในมาตรา 76 ระบุให้กลุ่มการเมืองสามารถส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองหรือภาคประชาสังคมที่ต้องการตัวแทนในสภา สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องสังกัดพรรค โดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีผู้แทนที่มาจากฐานของมวลชน เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ล้วนแต่มีที่มาจากกลุ่มทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมือง รวมถึงการกำหนดให้มีการหยั่งเสียงประชาชนหรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือในภาคเพื่อพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกับมีการบัญญัติให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติประเมินผลพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนในหมวด 3 รัฐสภา คณะกรรมาธิการฯ ยังคงหลักการเดิม คือ ให้มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่มีการเพิ่มบทบัญญัติคือ กรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน และหากไม่มีทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ก็ให้รองประธานของทั้งสองสภาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและอุดช่องว่างจากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2557 ที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ และประธานวุฒิสภาถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ทำให้มีข้อถกเถียงว่า รองประธานวุฒิสภาในขณะนั้น สามารถทำหน้าที่ได้หรือไม่
ส่วนในมาตรา 100 บัญญัติให้ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องต่อประธานเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา มีมติให้สมาชิกพ้นสมาชิกภาพ ในกรณีที่เห็นว่ากระทำการหรือมีพฤติการณ์อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของสมาชิก โดยแต่ละสภาต้องมีมติในคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด
นอกจากนี้ มาตรา 102 ยังบัญญัติให้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎต่างๆ แต่ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณากฎหมายไม่ดำเนินการในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือในเวลาอันสมควร ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ให้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีเกิดความแก่ผู้เสียหาย ย่อมสามารถฟ้องคดีให้รัฐรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้
ขณะที่ในวันนี้ (24 ก.พ.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการพิจารณาระบบการเลือกตั้งแบบผสม ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะมีการกำหนดรายละเอียดเพื่ออุดช่องโหว่ และน่าจะมีข้อสรุปได้ในวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น