xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ตั้งเป้าปีหน้านำกำไล EM คุมความประพฤติพื้นที่เป้าหมาย 27 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ปลัดกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งรับทราบปัญหาในการทำงานของกรมคุมประพฤติ โดยระบุว่ากรมคุมประพฤติได้ริเริ่มดำเนินโครงการนำร่องในการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (EM) มาใช้กับผู้กระทำความผิด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่ถูกคุมความประพฤติในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อมาได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้กระทำผิดทุกกลุ่มในระบบงานคุมประพฤติ
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2558 กรมคุมประพฤติจะนำเครื่องมือ EM มาใช้กับผู้กระทำผิดในระบบงานคุมประพฤติทั้งเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุกและผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 27 แห่ง คือ พื้นที่คุมประพฤติ กทม. 1-5 และอีก 22 จังหวัดคือ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก นครปฐม เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินโครงการนำร่องนำเครื่องมือ EM มาใช้ ที่ผ่านมามีจำนวนผู้กระทำผิดที่ต้องติดเครื่องมือ EM ทั้งหมด 257 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 193 ราย ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ได้รับพักการลงโทษจำนวน 42 ราย และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์/ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจำนวน 22 ราย ซึ่งกลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติที่ศาลสั่งเงื่อนไขใช้EM พบว่ามีฐานความผิดหลากหลาย อาทิ เมาแล้วขับ หรือขับรถโดยประมาท ร้อยละ84 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์จำนวนร้อยละ 5 ทำร้ายร่างกายร้อยละ5 และอื่นๆ เช่น ยาเสพติด บุกรุกสนามบินสุวรรณภูมิ อนาจารฯลฯ จำนวนร้อยละ6 ทั้งนี้ จากผลการคุมความประพฤติด้วย EM พบว่า ทุกรายพ้นการคุมความประพฤติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการใช้เครื่องมือ EM มีประโยชน์กับการควบคุมความประพฤติ เมื่อศาลสั่งมีกำหนดให้ใช้จากเดิมที่ใช้เจ้าหน้าติดตาม ซึ่งมีกำลังคนน้อยจึงทำให้ผู้ถูกคุมประพฤติไม่กลัว แต่เมื่อมีการนำเครื่องมือ EM มาใช้จะทำให้ผู้ถูกคุมประพฤติมีความระมัดระวัง เพราะว่าหากไม่ทำตามคำสั่งศาลอาจจะได้รับโทษหรือได้รับความเสียหายเพิ่ม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จะได้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้เครื่องมือ EM มาใช้ติดตามคุมประพฤติ ซึ่งจะมีศูนย์ควบคุมติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่กรมคุมประพฤติชั้น 4 และชั้น 1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ และยังมีศูนย์ดังกล่าวกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดอีกด้วย
สำหรับเครื่องมือดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีดื่มสุราเมาแล้วขับ กลุ่มคนขับแท็กซี่ และไกด์เถื่อน นอกจากนี้ ยังจะพิจารณาเพื่อนำไปใช้ขยายเพิ่มกับกลุ่มผู้กระทำผิดที่ส่งผลกระทบกับสังคมและส่วนรวม
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำมาใช้กับกลุ่มเด็กแว้นจะมีการพิจารณาถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องการก่อปัญหาสังคมและครอบครัวรวม ทั้งตัวเด็กเองจะต้องนำมาคำนึงในการตัดสินใจว่า อะไรจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า ส่วนที่เกรงกันว่าอาจจะเป็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติกำหนดไว้ แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายบัญญัติข้อยกเว้นให้สามารถนำมาใช้ได้ในบางกรณีการกระทำความผิด
ทั้งนี้ การนำเครื่องมือ EM ไปใช้กับผู้กระทำความผิดเกิดจากการที่กรมคุมประพฤติทำข้อเสนอไปท้ายคำฟ้องคดี แต่ก็ต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาลว่า จะเห็นด้วยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น