xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เตือนผู้ส่งออก แคนาดาอาจระงับใช้สารแอนตี้แบคทีเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ถึงกรณีที่องค์กรกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแคนาดา ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลแคนาดา โดยอ้างถึงสารแอนตี้แบคทีเรีย 2 ตัว คือ ไตรโคลซานและไตรโคลคาร์บาล ที่ปัจจุบันใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตสินค้าอุปโภค อาทิ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดผิว สบู่ก้อน เสื้อผ้า ไปจนถึงเสื่อโยคะว่า เป็นสารเคมีที่ควรได้รับการพิจารณาให้มีคําสั่งระงับการใช้โดยเร่งด่วน เนื่องจากผลของงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าว รบกวนระบบฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ เป็นตัวเร่งให้ร่างกายอยู่ในภาวะต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังเกิดการสะสมในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบไปยังสัตว์และมนุษย์ในที่สุด

แม้ว่าคําสั่งระงับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา แต่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยควรต้องมีการเตรียมการ และเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้นําเข้าและผู้บริโภค โดยสคร.พิจารณาเห็นว่า สินค้าที่น่าจะมีศักยภาพในตลาดแคนาดา คือ สินค้าที่มีความเป็น “ผลิตภัณฑ์สีเขียว”(Green Product) ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงในกลุ่มผู้บริโภคแคนาดาในปัจจุบันนี้

“จะเห็นได้ว่า กระแสการบริโภคผลิตภัณฑ์สีเขียวที่กําลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ ประกอบกับข้อมูลจากการวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากใช้สารแอนตี้แบคทีเรียทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมแพร่หลายมากขึ้นนั้น จะทําให้ผู้บริโภคตระหนักและหลีกเลี่ยงการใช้ไปในที่สุด”นางนันทวัลย์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ดีการพัฒนาสูตรการผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อใช้ทดแทนการใช้สารเคมี เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เข้ากับกระแสผลิตภัณฑ์สีเขียว หากมองย้อนกลับไปสมัยที่ยังไม่มีสารแอนตี้แบคทีเรีย ภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยโบราณ ต่างมีวิธีทําความสะอาดเครื่องใช้ในบ้านด้วยวัตถุดิบง่ายๆที่ปลอดภัย อาทิเช่น น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ใช้ผสมน้ำทําความสะอาด ฆ่าเชื้อ ดับกลิ่นและขจัดคราบต่างๆออกจากเสื้อผ้าและเครื่องใช้ต่างๆ หรือการใช้สารส้มเพื่อดับกลิ่นตัว เป็นต้น

นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ กล่าวว่า ผลวิจัยออนไลน์ของเว็บไซต์แห่งหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ชี้ชัดว่ากลุ่มผู้บริโภคชาวแคนาดา

ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง โดยยินดีที่จ่ายมากกว่า หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การจัดจําหน่าย การใช้งาน ไปจนถึงของเสีย หรือ ส่วนที่เหลือทิ้งจากการใช้งาน ซึ่งทั้งหมดต้องคํานึงถึงความเป็นมิตรกับผู้บริโภค
และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Product Design): การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนผสม รูปแบบบรรจุภัณฑ์คงทน ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและขนส่ง รวมไปถึง
การพิจารณาว่าบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวสามารถนําไปรีไซเคิลได้หรือไม่อย่างไร , กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย การวางแผนกําลังการผลิตและเวลาผลิตที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เหลือค้างสต๊อกนานเกินไป วางแผนการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีระบบการจัดการส่วนที่เหลือทิ้งที่มีประสิทธิภาพ

การกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคแบบยั่งยืน เช่น การลดกระบวนการงานเอกสารโดยใช้คํายืนยันการสั่งซื้อทางอีเมล์แทนโทรสาร การใช้รถบรรทุกระบบไฮบริดส์เพื่อประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น , การเน้นกระบวนการการให้บริการ โดยพัฒนาทีมให้บริการเพื่อดูแลหลังการขายและพร้อมแก้ปัญหาการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้ง เพื่อซื้อใหม่ การดูแลเครื่องใช้ต่างๆ อย่างดี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จะช่วยประหยัดพลังงานและยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีก เป็นต้น

สำหรับการส่งออกไทยไปแคนาดาในช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ ลดลง 5.3% คิดเป็นมูลค่า 691 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 22,293 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา เป็นต้น ส่วนการนำเข้า -28.7% มูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 12,539 ล้านบาท) สินค้าสำคัญ ได้แก่ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช พืชและผลิตภัณฑ์ของพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น