xs
xsm
sm
md
lg

เรือด่วนฯ แนะคสช.เทงบ 750 ลบ.สร้างท่าเรือ 8 จุดเชื่อมต่อเรือ-รถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือด่วนเจ้าพระยาหนุนคมนาคมยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ นำเสนอก่อสร้างท่าเรือ 12-15 แห่งคาดใช้งบกว่า 750 ล้าน แนะเร่งพัฒนาท่าเรือ 8 จุดเชื่อมต่อเรือ-รถไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรองรับแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงทางน้ำ-ทางราง ล่าสุดนำเสนอ “ประจิน” ผลักดันให้ฝันเป็นจริงก่อนเปิดใช้รถไฟฟ้าเส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

น.ท.ปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และกระทรวงคมนาคมเร่งยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำในปัจจุบันว่าต้องการให้คสช.และกระทรวงคมนาคมเล็งเห็นถึงการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าและเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะ 8 จุดเชื่อมต่อหลักๆเริ่มจากพื้นที่นนทบุรีไปจนถึงสมุทรปราการจะต้องเร่งก่อสร้างท่าเรือให้เชื่อมโยงกับการเปิดใช้งานรถไฟฟ้าให้พร้อมรองรับตั้งแต่วันนี้

โดย 8 จุดเชื่อมต่อที่สำคัญได้แก่ จุดที่ 1 ช่วงท่าปากเกร็ดที่ในอนาคตจะเชื่อมโยงรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งในอนาคตยังมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าคู่ขนานไปกับสะพานพระราม 4 เพื่อบรรจบกับถนน 345 จุดที่ 2 ช่วงสะพานพระนั่งเกล้าเพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ จุดที่ 3 ช่วงท่าสะพานพระราม 6 เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จุดที่ 4 ช่วงพิบูลย์สงคราม-บางโพเส้นทางข้ามรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จุดที่ 5 ช่วงสะพานข้ามเกียกกาย รองรับรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จุดที่ 6 ช่วงสะพานพระปิ่นเกล้า –รพ.ศิริราช รองรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม จุดที่ 7 ช่วงสะพานพุทธ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และจุดที่ 8 ช่วงสะพานสาทร รองรับรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า

“ภาครัฐเร่งดำเนินการรถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งเห็นว่าเป็นการแยกพัฒนาประเภทการขนส่งโดยสาร ไม่มุ่งเน้นการเชื่อมต่อระบบราง รถโดยสาร และเรือโดยสารเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งแนวเส้นทางตัดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาหลายเส้นทาง รัฐจึงควรเร่งยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำโดยการสร้างท่าเรือ(Boat Pier)ให้เป็นสถานีเรือ(Boat Station)โดยสารรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้เพื่อเป็นฟีดเดอร์อย่างสอดคล้องกัน”

ทั้งนี้ภาครัฐโดยกรมเจ้าท่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยการเสนอขออนุมัติงบประมาณในการพัฒนาเพื่อให้ระบบบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับระบบขนส่งทางรางโดยปรับปรุงท่าเทียบเรือเดิมหรือสร้างใหม่เพื่อทดแทนให้มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้ารองรับการเดินทางของประชาชนเพื่อเชื่อมต่อระบบการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางบก และทางราง โดยเมื่อคิดต้นทุนของการลงทุนระบบขนส่งมวลชนทางราง คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2.7 หมื่นบาทต่อคน ส่วนการลงทุนระบบขนส่งมวลชนทางน้ำคิดเป็นประมาณ 3,750 บาทต่อคนเท่านั้น

โดยในเบื้องต้นนำเสนอให้เร่งดำเนินการจำนวน 12-15 ท่าเรือโดยเฉพาะ 8 จุดสำคัญที่นำเสนอ คาดว่าจะใช้งบกว่า 750 ล้านบาท จำแนกเป็น 8 ท่าเรือขนาดใหญ่ใช้งบ 400 ล้านบาท ปรับปรุงท่าเรือขนาดกลาง 5 ท่าใช้งบ 175 ล้านบาท และปรับปรุงท่าเรือขนาดเล็ก 7 ท่า ใช้งบ 175 ล้านบาท ในส่วนภาคเอกชนจะลงทุนพัฒนารูปแบบเรือให้มีมาตรฐาน ทันสมัย และปลอดภัย การลงทุนสร้างเรือลำใหม่ ประมาณ 6 ลำ ใช้งบราว 240 ล้านบาท โดยเสนอรัฐบาลให้ส่งเสริมรูปแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุน(BOI)

“แนวคิดการพัฒนาเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำในครั้งนี้ได้นำเสนอพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ไปแล้ว โดยนำเรียนให้ทราบถึงปัญหาระบบขนส่งโดยสารทางน้ำในปัจจุบัน และเสนอการพัฒนาระบบขนส่งโดยสารทางน้ำโดยยกระดับมาตรฐานการขนส่งโดยสารทางน้ำ ทั้งด้านความปลอดภัย การบริการและความรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเปลี่ยนผ่านระบบได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการจากเดิมประมาณ 4 หมื่นคนต่อวัน เพิ่มเป็นกว่า 2 แสนคนต่อวัน” น.ท.ปริญญากล่าว

กรมเจ้าท่าใช้งบปี 58 ราว 70 ล้านนำร่อง 7-8 แห่ง
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) กล่าวว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำและทางรางของรัฐบาล โดยในปี 2558 นี้นำเสนอขออนุมัติประมาณราว 70 ล้านบาทเพื่อนำไปก่อสร้างท่าเรือรูปแบบทันสมัยในจุดช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่นนทบุรีและกรุงเทพมหานครที่ผู้คนใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อสะพานและเส้นทางรถไฟฟ้าประมาณ 7-8 แห่ง

โดยจุดเด่นๆต้องสามารถนำรถยนต์โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะเข้าไปรับ-ส่งได้ถึงท่าเรือ ตลอดจนพื้นที่หลังท่าเพียงพอ มองเอาไว้ทั้งพื้นที่ภาครัฐและพื้นที่ของเอกชนที่อาจจะเชิญชวนให้เข้ามาร่วมลงทุน จุดละประมาณ 20-30 ล้านบาท แต่จะใช้พื้นที่ของรัฐในช่วงแรกก่อนพร้อมพัฒนารูปแบบบิสสิเนสควบคู่กันไปด้วยเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณซ่อมบำรุงของรัฐบาล ส่วนปี 2558 นี้มีงบประมาณอยู่ส่วนหนึ่งน่าจะทำเป็นสถานีนำร่องได้บ้างประมาณ 4-5 ท่า อาทิ สถานีพระนั่งเกล้าหรือสะพานพระราม 8 ท่าช้าง ท่าเตียน ท่าสะพานสาทร แต่จะเห็นภาพชัดในปี 2559 โดยต้องมีพื้นที่พักคอยไม่ต้องลงไปรวมกันที่โป๊ะเรือซึ่งไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก จัดโซนพื้นที่ขึ้น-ลงให้ชัดเจน พร้อมที่จะใช้งานกับระบบตั๋วร่วมในอนาคตได้อีกด้วย

ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายการขนส่งทางน้ำลดลงหรือสู้กับทางถนนได้ ดึงผู้ประกอบการมาใช้การขนส่งทางน้ำให้มากขึ้น ซึ่งพื้นที่นนทบุรีโดยเฉพาะโซนสะพานพระนั่งเกล้า หรือปากเกร็ดที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงต้องสร้างท่าเรือไว้รองรับ หรือเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง

“เฉพาะผู้ที่ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาเฉลี่ยมีผู้เดินทางประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน หากเป็นภาพรวมแล้วมีประมาณกว่า 1 แสนคนต่อวัน ดังนั้นจึงต้องเร่งแนวคิดการพัฒนารองรับไว้ตั้งแต่วันนี้ คิดแม้กระทั่งเมื่อเรือจะเทียบท่าจะมีการส่งสัญญาณให้ทราบเพื่อเตรียมตัวเดินทางได้ทันตามตารางแสดงผลด้วยระบบอิเล่กทรอนิกส์พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งนี้จะมีการประชุมสรุปแนวทางและรูปแบบการดำเนินโครงการ จุดสถานีนำร่องและงบประมาณน่าจะชัดเจนในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ที่จะมีการประชุมร่วมกันที่กรมเจ้าท่า”

สอดคล้องกับที่นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวถึงโครงการเปิดประมูลซ่อมแซมและปรับปรุง 8 ท่าเรือ (โป๊ะ) ริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ปรากฏว่าไม่มีผู้รับเหมาแสดงความสนใจ ขณะที่กรมเจ้าท่าได้ปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคาจ้างเหมาซ่อมแซมและปรับปรุงโป๊ะจำนวน 8 แห่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ วงเงินทั้งสิ้น 5 ล้านบาทครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯและนนทบุรี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดประกวดราคาทั้ง 8 ท่าเรือ ดังนี้คือ 1.ท่าเรือสมุทรปราการ (หน้าสำนักงานเจ้าท่าสาขาสมุทรปราการ) 2.ท่าเรือสมุทรปราการหน้าตลาดสดวิบูลย์ศรี 3.ท่าเรือสุขสวัสดิ์ 53 4.ท่าเรือวัดบางกระสอบ 5.ท่าเรือถนนตก 6.ท่าเรือสี่พระยา 7.ท่าเรือสะพานพระราม 8 (ฝั่งพระนคร) และ8.ท่าเรือพิบูลย์สงคราม 1

ทั้งนี้ในกรณีดำเนินการเปิดประมูลเป็นการเปิดประมูลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ใช้งบประมาณประจำปี 2557 โดยขอบข่ายหลักอยู่ที่งานซ่อมแซมโป๊ะเทียบเรือพร้อมสะพานปรับระดับ ระยะเวลาดำเนินการและส่งมอบงาน 240 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา ซึ่งภายใต้งบ 5 ล้านบาทนั้นจัดเป็นค่าวัสดุและค่าแรงงานเป็นเงินกว่า 3.9 ล้านบาท ส่วนหลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาราคากรมเจ้าท่าจะพิจารณาตัดสินด้วยราคารวม

“แต่ละปีจะได้รับงบประมาณ 5 ล้านบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อการปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับค่าจ้างและการจ่ายเงินค่าจ้างกรมเจ้าท่าจะแบ่งชำระออกเป็น 4 งวดๆ แรกทำงานได้ 25% ของค่างานทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันลงนามในสัญญา ส่วนงวดที่ 2 เมื่อผู้รับจ้างทำงานได้ 50% ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 120 วัน งวดที่ 3 ทำงานได้ 75% ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน และงวดสุดท้ายเป็นเงินอีก 25% เมื่องานแล้วเสร็จครบถ้วน 100% ภายในเวลา 240 วัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น