xs
xsm
sm
md
lg

สธ.บังคับแล้วพิมพ์ภาพคำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ว่าด้วยการบังคับให้พิมพ์ภาพคำเตือนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้พื้นที่ร้อยละ 85 บนซองบุหรี่ จำนวน 10 ภาพ ฉบับพิพาทกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ทั่วโลกจับตา มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น ระบุ สธ.ทำถูกต้องทุกขั้นตอน ยึดการปกป้องสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ ส่งผลให้บุหรี่ทุกยี่ห้อที่นำเข้าไทย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป และให้ผู้ประกอบการเก็บบุหรี่รุ่นเก่าออกจากท้องตลาดให้หมดภายใน 23 ก.ย.57

วันนี้ (27 มิถุนายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค และคณะ แถลงข่าวสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีพิพาท กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คือประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่ เพิ่มจากขนาดเดิมคือร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 บนพื้นที่ซองบุหรี่ ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีทั้งหมด 10 ภาพ และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556 และมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 180 วัน คือวันที่ 2 ตุลาคม 2556 และมีบริษัทผู้ประกอบธุรกิจยาสูบคือ เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทเจที ยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศฯและขอให้คุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556 และศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อทุเลาการบังคับใช้ประกาศฯ ดังกล่าว ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับหนังสือจากศาลปกครองสูงสุด โดยคำสั่งที่ 269 / 2557 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 มีคำสั่งให้ยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานถูกต้องตามขั้นตอน ยึดประโยชน์ปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจยาสูบถือปฏิบัติได้ จึงมีผลให้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯฉบับนี้ ซึ่งมีข้อกำหนด 11 ข้อ มีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองสั่ง เป็นต้นไป ดังนั้น ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าบุหรี่ซิกาแรตทุกราย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังนี้

1.ต้องจัดพิมพ์ฉลากรูปภาพข้อความคำเตือนที่ซอง หรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรตที่จะจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย ให้มีขนาดร้อยละ 85 ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุดอย่างน้อย 2 ด้าน โดยกำหนดให้บุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุอยู่ในกล่อง หรือกระดาษหุ้มห่อซอง หรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต (Carton) ต้องแสดงฉลากรูปภาพและข้อความคำเตือน จำนวน 10 แบบต่อ 1 คาร์ตัน (Carton) โดยจัดพิมพ์ 10 แบบคละกันในอัตรา 1 แบบต่อ 5,000 ซองหรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต รวมทั้งพิมพ์ช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบคือหมายเลขโทรศัพท์ 1600

2. เงื่อนเวลาต่าง ๆ ตามประกาศฯ กล่าวคือการผ่อนผันให้ผู้ผลิตหรือนำเข้ามาก่อนประกาศมีผลใช้เป็นเวลา 90 วันตามข้อ 9 และ 180 วันสำหรับผู้นำเข้าหลังประกาศมีผลใช้ ตามข้อ 11 ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ผลิตและนำเข้าบุหรี่ซิกาแรตได้ล่วงเลยไปแล้ว จึงไม่สามารถนำกลับมาใช้เพื่อประโยชน์แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้อีก

อย่างไรก็ตาม โดยที่กระทรวงสาธารณสุข พบปัญหาของผู้ประกอบการในการระบายสินค้าในท้องตลาดที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ซึ่งถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือการดำเนินการตามประกาศฯ ดังนั้นอาศัยอำนาจตามข้อ 10 ของประกาศฯ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงได้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกตรวจจับสินค้าดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2557 เป็นต้นไป หรือให้เวลาผู้ประกอบการเป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และผู้จำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตที่ไม่ได้แสดงฉลากตามที่กำหนดไว้ มีโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

สำหรับกรณีการพิพาทประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ระหว่างบริษัทผู้ประกอบการบุหรี่ข้ามชาติ กับกระทรวงสาธารณสุขไทยครั้งนี้ จัดเป็นคดีพิพาทระดับโลก องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกทั่วโลก ให้ความสนใจไทย จับตามองมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงและการรุกคืบการปกป้องสุขภาพประชาชน โดยใช้กฎหมายบังคับ เรื่องการพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยของบุหรี่ขนาดใหญ่ที่สุด สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย เพราะครึ่งหนึ่งของคนไทยที่สูบบุหรี่หรือประมาณ 6 ล้านคน มีระดับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือต่ำกว่า และผลการวิจัยพบว่าการใช้ภาพสีขนาดใหญ่ เป็นการสื่อสารความเสี่ยงกับสุขภาพได้ดีกว่า ผู้บริโภคตอบสนองเชิงบวกในการจดจำ มีทัศนคติที่ดีต่อการโฆษณาหรือต่อตราสินค้า รู้สึกว่างานโฆษณามีส่วนรับผิดชอบ กระตุ้นความรู้สึกและความต้องการของผู้สูบที่จะเลิกสูบ ช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ในที่สุด

อนึ่งภาพคำเตือนใหม่ 10 แบบ พร้อมข้อความคำเตือนมีดังนี้ 1.โปรดงดสูบบุหรี่ในบ้าน 2.ควันบุหรี่ฆ่าเด็กได้ 3.สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งกล่องเสียง 4.สูบบุหรี่ทำให้หัวใจวาย 5.สูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดสมองแตก 6.สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปาก 7.สูบบุหรี่ทำให้เซ็กส์เสื่อม 8.สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่ 9.สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด และ10.สูบแล้วทรมานจนตายจากถุงลมพอง

ทั้งนี้ ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่ ในปี 2555-2557 กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ 3 ลด 3 เพิ่ม โดย 3 ลดประกอบด้วย 1.ลดนักสูบรายใหม่ 2.ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น 3.ลดควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และบ้าน ส่วน 3 เพิ่มได้แก่ 1.เพิ่มกลไกการป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ 2.เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จังหวัด และท้องถิ่น และ 3.เพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 จำนวน 27 คู่สาย มีผู้ใช้บริการ กว่า 1 แสนครั้ง และยังมีคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มากกว่า 200 แห่ง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ 02-580 9237 และสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ผลการศึกษาวิจัยตามโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลก ล่าสุดในปี 2554 พบว่าชายไทยมีอัตราสูบบุหรี่ร้อยละ 47 โดยมีคนไทยสูบบุหรี่ทั้งหมด 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2552 จำนวน 5 แสนคน ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นนักสูบหน้าใหม่ อายุระหว่าง 15-24 ปี ประการสำคัญยังพบว่า เยาวชนไทย อายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น จากในปี 2550 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.8 ปี แต่ในปี 2554 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.2 ปี และบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับ 2 ที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิต รองจากเหล้า ผลการศึกษาในปี 2552 มี คนไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 50,710 ราย โดยแต่ละคนอายุสั้นลงเฉลี่ย 12 ปี และจะป่วยหนัก ทรมาน สูญเสียคุณภาพชีวิตก่อนเสียชีวิตเฉลี่ย 2 ปี คนไทยและประเทศไทยสูญเงินมหาศาลในการรักษาโรคจากการสูบบุหรี่รวม 52,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (Gross Domestic Product : GDP)
กำลังโหลดความคิดเห็น