xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.เตือน ปชช.อากาศเย็นระวังหนาวตาย-เจ็บป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องจากสภาพอากาศยังมีความหนาวเย็นอย่างต่อเนื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ ยังมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของประชาชนที่คาดว่า มีสาเหตุจากอากาศหนาวเย็นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักระบาดวิทยา เฝ้าระวังการ เจ็บป่วยรวมทั้งการเสียชีวิตจากภัยหนาวทุกจังหวัด และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ประจำตำบล ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ออกเยี่ยมบ้าน ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยหนาว 3 กลุ่มได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหอบหืด เป็นต้น รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น ขอให้ประชาชนสวมเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ ไม่นอนในที่โล่งแจ้ง และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดทุกชนิด ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาสม่ำเสมอ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แห้งแตกง่าย
น.พ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากภาวะอากาศหนาวของประเทศไทยของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ถึง 19 มกราคม 2557 ซึ่งกรมป้องกันสาธารณภัยได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาว 45 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 25 ล้านกว่าคน โดยได้รับแจ้งผู้เสียชีวิตที่คาดว่า อาจจะ เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาวรวมทั้งสิ้น 63 ราย จาก 27 จังหวัด ร้อยละ 90 เป็นเพศชาย โดยเป็นคนไทย 59 ราย กัมพูชา 1 ราย ลาว 1 ราย อังกฤษ 1 ราย และไม่ทราบสัญชาติ 1 ราย อายุต่ำสุด 1 เดือน และสูงสุดคือ 83 ปี เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว 49 ราย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 14 ราย ผลการสอบพบว่า มีเพียง 2 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดเลย และอุบลราชธานีมีผลวินิจฉัยว่า เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นโดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ส่วนอีก 47 ราย เสียชีวิตมาจากการมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนมาก่อนร่วมด้วย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 6 ราย รองลงมาได้แก่ จ.สระแก้ว นครราชสีมา จังหวัดละ 5 ราย จ.เลย แพร่ จังหวัดละ 4 ราย ผู้เสียชีวิตร้อยละ 51 เสียชีวิตในบ้านเรือนที่เหลือเสียชีวิตในที่สาธารณะ หน้าบ้าน ข้างกองไฟ โดยมีปัจจัยเสี่ยงเสริม ที่เกี่ยวข้อง 3 ปัจจัย คือการดื่มสุรา สวมเครื่องนุ่งห่ม ไม่เพียงพอ และโรคประจำตัวที่พบมากคือ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก
กำลังโหลดความคิดเห็น