xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยหนาวตายพุ่ง 63 ราย จาก 27 จังหวัด ในรอบ 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! คนไทยหนาวตายในรอบ 3 เดือนพุ่ง 63 ราย ใน 27 จังหวัด พบเชียงใหม่ตายมากสุด อธิบดี คร.แนะ 5 วิธีดูแลร่างกายให้อบอุ่น เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลง
แฟ้มภาพ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นต่อเนื่อง ที่น่าห่วงคือยังมีรายงานข่าวการเสียชีวิตที่คาดว่ามีสาเหตุจากอากาศหนาวเย็นหลายพื้นที่ สธ.จึงให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) เฝ้าระวังการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากภัยหนาวทุกจังหวัด และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกเยี่ยมบ้านดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังโรคประจำตัว รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น คือ สวมเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ ไม่นอนที่โล่งแจ้ง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดทุกชนิด กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แห้งแตกง่าย ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากภาวะอากาศหนาวของไทย ของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 22 ต.ค. 2556 - 19 ม.ค. 2557 ซึ่งกรมป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาว 45 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 25 ล้านกว่าคน โดยได้รับแจ้งผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาวรวมทั้งสิ้น 63 ราย จาก 27 จังหวัด ร้อยละ 90 เป็นเพศชาย โดยเป็นคนไทย 59 ราย กัมพูชา 1 ราย ลาว 1 ราย อังกฤษ 1 ราย และไม่ทราบสัญชาติ 1 ราย อายุต่ำสุด 1 เดือน และสูงสุดคือ 83 ปี เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว 49 ราย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 14 ราย ผลการสอบพบว่า มีเพียง 2 รายซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดเลย และอุบลราชธานี มีผลวินิจฉัยว่าเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ส่วนอีก 47 ราย เสียชีวิตมาจากการมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนมาก่อนร่วมด้วย

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 6 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดสระแก้ว นครราชสีมา จังหวัดละ 5 ราย จังหวัดเลย แพร่ จังหวัดละ 4 ราย ผู้เสียชีวิตร้อยละ 51 เสียชีวิตในบ้านเรือน ที่เหลือเสียชีวิตในที่สาธารณะ หน้าบ้าน ข้างกองไฟ โดยมีปัจจัยเสี่ยงเสริมที่เกี่ยวข้อง 3 ปัจจัย คือการดื่มสุรา สวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอ และโรคประจำตัว ที่พบมากคือโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก

ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่า 37 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด เส้นเลือดจะหดตัว เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดี หัวใจทำงานหนักและเต้นผิดปกติ และเกิดปัญหาไตวาย และเสียชีวิตขณะนอนหลับ ในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำ ประชาชนควรปฏิบัติ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศหนาวเย็น และสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายตลอดเวลา 2.ไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง 4.รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงาน เครื่องดื่มร้อนๆ เลี่ยงการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน เพราะมีผลให้ร่างกายขับปัสสาวะมาก ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น 5.สวมใส่เครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ” อธิบดี คร.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น