xs
xsm
sm
md
lg

NGO เสนอออกกฎหมายจารีต ผลักดันวิถีชุมชนคนอยู่กับป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมหมาย ทรัพย์รังสิตกุล ปราญช์ชาวปกาเกอะญอ กล่าวในการประชุมวิชาการ "การปฏิรูปเชิงพื้นที่ระดับจังหวัดและภูมินิเวศ" เพื่อสานพลังเติมเต็มศักยภาพ การปฏิรูปขบวนชุมชนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ตำบล จังหวัด ภูมินิเวศ สู่การจัดระบบความสัมพันธ์ใหม่ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการพัฒนาในระดับพื้นที่ ว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าชาวกะเหรี่ยง หรือชาวเขา เป็นผู้ทำลายป่า เป็นผู้ทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารทำให้น้ำแล้ง แต่หากมองกันดีๆ ภาพของการบุกรุกทำลายป่า ภูเขา มีแต่ไร่ข้าวโพดนั้น มีนายทุนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น สัตว์ป่า งาช้าง ใครอยากได้ถ้าไม่ใช่คนนอกอย่างนายทุน ขณะที่คนกะเหรี่ยงมีวิถีที่พอเพียง และเคารพธรรมชาติ ถ้าให้ชาวบ้านจัดการตนเอง ดูแลรักษาผืนป่าผู้หลักผู้ใหญ่ต้องล้างสมองตัวเองก่อน และทุกคนต้องจัดการตัวเอง
นายยุทธชัย บุตรแก้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ควรผลักวิถีชุมชน วิถีของคนที่อยู่ร่วมกับป่า ออกเป็นกฎหมาย หรือระเบียบ อาจไม่เหมือนกันทุกพื้นที่ เป็นลักษณะของกฎหมายเชิงจารีตประเพณี เพื่อมีพื้นที่ให้ชาวบ้านชนเผ่า หรือชาวเล มีพื้นที่เข้าไปเสนอความคิด มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง ความเข้าใจระหว่างกันของเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในอดีตที่ผ่านมาจนปัจจุบันความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อคนต้นน้ำไม่มีกิน ก็จะกระทบกับคนปลายน้ำอย่างแน่นอน เพราะเมื่อชาวบ้านเป็นหนี้ ชาวบ้านไม่รู้จะจัดการอย่างไร ก็เข้าป่าล่าสัตว์ หรือเอาสินทรัพย์จากป่าสร้างรายได้เพื่อใช้หนี้
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า หากดูเรื่องการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งการจัดการต้องต่างกัน แต่ละชุมชนมีสิทธิในการจัดการตนเองโดยมีข้อตกลงร่วมกัน ภาครัฐต้องวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับชุมชน การจัดการป่าต้นน้ำ ปัจจุบันมีคนขัดแย้งกับรัฐถึง 4 ล้านคน ในเรื่องที่ดินทำกินหากต้องย้ายคน 4 ล้านคน นับเป็นเรื่องน่ากังวล รัฐส่วนกลางต้องสร้างความเป็นธรรมกับชุมชนอื่น หน่วยงานผู้วางแผนต้องเข้าใจชุมชน การจัดการอำนาจจากส่วนกลาง ภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นต้องมีข้อเสนอที่สมดุล ต้องฟังจากข้างล่าง ชุมชนมีส่วนร่วมอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น