xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แนะรัฐดึงภาค ปชช.25 ลุ่มน้ำร่วมแก้ปัญหาน้ำ เลิกระบบศูนย์รวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
กก.สิทธิมนุษยชน แนะรัฐดึงภาค ปชช.เข้ามีส่วนร่วมการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 25 คณะ พร้อมกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำ เฃื่อจะช่วยผันน้ำทะเลได้เร็วขึ้น ชี้ปัญหาที่ผ่านมายังเป็นแบบศูนย์รวมและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิการเมืองและสิทธิชุมชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการที่ได้มีการเชิญตัวแทนเครือข่ายจัดการน้ำลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำบางปะกง มาหารือถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ยามวิกฤตว่า จากการหารือทำให้ทราบว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำท่วมในขณะนี้ของรัฐบาลยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งทางอนุกรรมการฯเสนอว่ารัฐควรพึ่งกลไก 3 อย่างเป็นเครื่องมือในการแก้ไขวิกฤตในขณะนี้ คือ 1.รัฐควรให้สิทธิกับชุมชนท้องถิ่นในการเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งเวลานี้ในแต่ละพื้นที่ที่ประสบภัยต่างก็มีกรรมการลุ่มน้ำรวม 25 คณะ ที่รัฐควรกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้กรรมการลุ่มน้ำเข้าไปดำเนินการเพราะเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุด ไม่ใช่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมแค่การเอากระสอบทรายไปวางอย่างที่เป็นอยู่ 2.รัฐต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองเพื่อรองรับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในปีถัดไป 3.ควรมีการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐกับชุมชนและภาคส่วนต่างในสังคมเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องและตรงจุด ซึ่งหลังจากนี้ทางอนุกรรมการก็จะได้มีการเชิญตัวแทนเครือข่ายจัดการน้ำที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ มาพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิฯและผลักดันเป็นยุทธศาสตร์การจัดการน้ำที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนไปยังรัฐบาลและรัฐสภาต่อไป

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมการมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หนึ่งในอนุกรรมการ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังเป็นแบบรวมศูนย์ ทั้งที่แต่ละพื้นที่มีกรรมการลุ่มน้ำที่รู้จักพื้นที่ของตนเองดี แต่รัฐก็กลับไม่ใช่กลไกนี้ ทั้งที่สามารถส่งเสริมกันได้ หากประสานงานร่วมกันก็จะยิ่งสามารถผันน้ำออกสู่ทะเลได้เป็นระบบและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การที่รัฐแถลงข่าวรายวันกลับทำให้เห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอออกจากรัฐไม่สอดคล้องกัน และเป็นการแก้ไขปัญหาแบบรายวันเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้มองไปข้างหน้าว่าอีก 7 วันเมื่อมวลน้ำไปถึงจุดข้างหน้าแล้วจะมีแผนจัดการอย่างไร

“เวลานี้ที่รัฐทำก็เอาแต่บอกว่าจะเอานิคมอุตสาหกรรม เอาบ้านตรงนั้นตรงนี้ให้อยู่ แต่ไม่ได้มองว่า อีก 7 วันข้างหน้า เมื่อน้ำที่ถูกผันไปไปถึงสุมทรสาคร สมุทรปราการแล้ว จะทำอย่างไรต่อ อย่างลุ่มน้ำท่าจีนตอนนี้ผันไปแล้วพอไปถึงสมุทรสาครแล้วก็กลับพบว่ามีเรือสินค้าจอดขวางทางน้ำที่จะไหลออกสู่ทะเล ก็ทำให้เกิดการหน่วงและการตีกลับของน้ำเข้ามาอีก ทำให้การระบายน้ำแทนที่จะเร็วก็กลายเป็นช้า ตรงนี้สะท้อนว่ารัฐยังขาดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาซึ่งนอกจากจะทำให้การดำเนินการเกิดการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์แล้วยังอาจทำให้เราต้องอยู่ในสถานการณ์นี้ไปอีกมากกว่า 2-3 เดือน”
กำลังโหลดความคิดเห็น