xs
xsm
sm
md
lg

"วิทยา"แนะ อยุธยา-ชัยนาท-สิงห์บุรี-ลพบุรี-อ่างทอง เป็นฟลัดเวย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (12 ก.พ.) ในการประชุมเตรียมความพร้อมเสนอปัญหาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมาตรวจแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 16 - 17 กุมภาพันธ์นี้ ล่าสุด พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เสนอแผนโครงการเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ อาทิ การยกระดับถนนอู่ทอง รอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา การขุดลอกคลอง และระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการผันน้ำจากแม่น้ำลพบุรี ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในลักษณะของการ CROSS น้ำ ซึ่งอาจจะมีการขุดคลองขึ้นมาใหม่ผ่านพื้นที่ อำเภอบางปะหัน มาลงที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ส่วนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน้อย ได้มีการเสนอแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งตะวันตก ด้วยการขุดคลองแยกจากแม่น้ำน้อย ช่วงบริเวณใต้ปากคลองมโนราห์ อ.เสนา มาจนถึงช่วงบริเวณวัดบางปลาหมอ เขต อ.บางบาล ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร จากเดิมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร โดยจะมีประตูระบายน้ำปิด-เปิดน้ำเข้าแม่น้ำน้อย จำนวน 4 จุด ซึ่งหากเป็นไปตามที่โครงการชลประทานส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาลเสนอ จะแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตลาดเสนาได้ เพราะน้ำทั้งหมดจะถูกผันมาลงแม่น้ำน้อยเร็วขึ้น ซึ่งความต้องการของทั้ง 2 ลุ่มน้ำครั้งนี้จะถูกเสนอพร้อมกับความต้องการของอีก 2 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำลพบุรี และลุ่มแม่น้ำป่าสัก ให้กับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นี้ด้วย
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา คือ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และ อ่างทอง เพื่อนำเสนอภาพรวมให้กับนายกรัฐมนตรีในการเสนอตัวเป็นพื้นที่รับน้ำ หรือ FLOOD WAY ช่วง 1 - 2 ปีแรก เนื่องจากโครงการที่แต่ละจังหวัดเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายใน 2 ปี ซึ่งหากทั้ง 5 จังหวัด เสนอเป็นพื้นที่รับน้ำชั่วคราวไปก่อน และนำเงินจากรัฐบาลมาจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน น่าจะเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการที่จะต้องนำเงินไปซื้อถุงยังชีพแจกชาวบ้าน หรือการที่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากทำแนวคันดินป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร แต่สุดท้ายก็ป้องกันไม่ได้ โดยค่าชดเชยในการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรนั้น รัฐบาลก็ต้องตกลงกับชาวบ้านด้วย
นายวิทยา กล่าวว่า การเสนอตัวทั้ง 5 จังหวัด เป็นพื้นที่รับน้ำนั้น ไม่ใช่เป็นการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรในช่วงนี้ แต่ทุกจังหวัดต้องตกลงกับชาวบ้าน และเกษตรกรว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะต้องเก็บเกี่ยวให้หมดภายในเดือนสิงหาคม เท่ากับว่าหากทำนา จะทำได้เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น หลังจากเดือนสิงหาคมไปแล้ว ชลประทานแต่ละพื้นที่ก็จะเปิดประตูระบายน้ำทุกแห่ง ให้ระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตรพร้อมกัน วิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายมาก เพราะน้ำค่อยๆ ไหลเข้าไป ขณะเดียวกันชาวบ้าน ยังจะได้เปลี่ยนอาชีพจากการทำการเกษตรมาเป็นชาวประมงในพื้นที่นาของตนเอง จับปลาหาเลี้ยงชีพในช่วงน้ำท่วมได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น