xs
xsm
sm
md
lg

เวนคืนที่ดิน บางกรวย ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย บางซื่อ จตุจักร สร้างทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2555 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องก่อสร้าง ทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวก และความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค
ในการนี้ สมควรกำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกานี้
พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ( 11 ก.พ. 2555 ) พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 4 ปี โดยที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และ ให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ สำหรับ เขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อยู่ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีส่วนแคบที่สุด 200 เมตร และส่วนกว้างที่สุด 3,000 เมตร ทั้งนี้ ภายในแนวเขต ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโครงข่ายของทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในทางทิศตะวันตกเพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรระดับดิน และระบายการจราจรทางด้านทิศตะวันตก ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร แนวสายทางเริ่มต้นที่ทางพิเศษศรีรัช โดยมีจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้เดิม) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้นแนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนีจนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ระยะทางรวมประมาณ 16.7 กิโลเมตร กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2559
ทั้งนี้ การตรวจสอบแนวเวนคืน เจ้าของที่ดินจะต้องรู้ว่าเป็นแนวเวนคืนของหน่วยงานใด เช่น หากต้องการตรวจสอบแนวถนนตามผังเมืองรวมสามารถตรวจสอบได้ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด หากเป็นการเวนคืนตามแนวถนนของหน่วยงานอื่น ผู้ตรวจสอบจะต้องทราบว่าเป็นโครงการของหน่วยงานใด และตรวจสอบได้ที่หน่วยงานนั้น เช่น กรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถนำโฉนดที่ดินแปลงนั้นไปติดต่อตรวจสอบได้โดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น