xs
xsm
sm
md
lg

สวนทางยุโรป อินโดฯอดีตลูกหนี้ไอเอ็มเอฟกำลังรุ่งเรือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะที่คำขู่ลดอันดับประกาศก้องเต็มสองหูยุโรป สถานการณ์ของตลาดเกิดใหม่บางชาติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน

ตัวอย่างที่บ่งชี้ความแตกต่างชัดเจนที่สุดคืออินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมา ฟิตช์ประกาศเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ภาครัฐแดนอิเหนาสู่สถานะน่าลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

ย้อนกลับไปในปี 1997 ตอนที่วิกฤตการเงินเอเชียระเบิด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องเข้ามาแทรกแซงด้วยเงินกู้ระยะ 3 ปีมูลค่า 10,100 ล้านดอลลาร์ โดยระบุว่า ภาคการธนาคารของอินโดนีเซียไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือความปั่นป่วนทางการเงินที่แผลงฤทธิ์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น

มาถึงปี 2011 จุดที่น่าเป็นห่วงกลับกลายเป็นแบงก์ยุโรป เนื่องจากวิกฤตยูโรโซนยังไม่เห็นทางออกที่ยอมรับได้ทางการเมือง

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำทั้งสามแห่งของโลกพร้อมใจเตือนชาติยุโรปว่า อาจถูกลดเรตติ้งถ้าไม่สามารถแก้ไขวิกฤตได้ วันที่ 16 ที่ผ่านมา ฟิตช์แถลงว่า ทางออกจะต้องครอบคลุมทั้งด้านเทคนิคและการเมือง

กลับมาที่อินโดนีเซีย การสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า เศรษฐกิจแดนอิเหนาปีหน้าจะขยายตัวถึง 6.4% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของปีปัจจุบันเพียง 0.1% แต่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับยุโรปที่ถูกคาดหมายว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะถดถอย ขณะที่อัตราการเติบโตของอเมริกาอาจได้แค่ 1 ใน 3 ของอินโดนีเซียเท่านั้น

บทเรียนที่เอเชียได้รับจากวิกฤตการเงินปลายทศวรรษ 1990 คือ ต้องแน่ใจว่ามีหลักประกันที่ดีพอ

ปัจจุบัน เอเชียถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก เฉพาะจีนและญี่ปุ่นรวมกันมีถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศอื่นๆ อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ก็มีทุนสำรองมหาศาลเช่นกัน

ทุนสำรองเหล่านี้สามารถเป็นฉนวนปกป้องความปั่นป่วนในตลาดเงินได้ ปีนี้อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และอีกหลายประเทศ ต่างใช้ทุนสำรองปกป้องไม่ให้ค่าเงินของตนผันผวนเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น