xs
xsm
sm
md
lg

ธ.โลกระบุเอเชียต.อ.ปีหน้าโตช้าเหตุดีมานด์ยุโรปลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งรวมไทยจะเติบโตชะลอตัวลงในปีหน้า โดยที่ปัจจัยหนึ่งมาจากวิกฤตน้ำท่วมในไทยซึ่งกำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยปัจจัยที่ประเทศในย่านนี้มีแนวโน้มส่งออกไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯและยุโรปได้ลดน้อยลง สืบเนื่องจากชาติร่ำรวยเหล่านี้กำลังติดหล่มปัญหาหนี้สาธารณะ และจำเป็นต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดตัดลดรายจ่ายขนานใหญ่

ธนาคารโลกยังเตือนจีน ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคด้วยว่า กำลังเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ในยุโรป อย่างไรก็ตาม ก็เสนอแนะว่า ปักกิ่งมีหนทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด “ฮาร์ด แลนดิ้ง” ได้โดยการผ่อนปรนนโยบายการเงิน

ในรายงานครึ่งปีหลังฉบับปรับปรุงของธนาคารโลก ว่าด้วยภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงในปีหน้า ด้วยปัจจัยบั่นทอนในเรื่องอุปสงค์ที่ลดฮวบลงในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งต่างกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะ ทั้งนี้เวิลด์แบงก์ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออก ลดลงเป็น 8.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และ 7.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2012 หลังจากที่เคยโตได้ถึง 9.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010

ทั้งนี้ตามข้อมูลของเวิลด์แบงก์นั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งในที่นี้หมายรวมทั้งจีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, เวียดนาม และกัมพูชา มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังไม่รวมทองคำ รวมกันมูลค่าทั้งสิ้น 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยที่จีนประเทศเดียวมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์

ธนาคารโลก ระบุว่า หลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตในโลกตะวันตกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์นั้น ล้วนกำลังประสบกับภาวะดีมานด์อ่อนตัวลง

นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ กล่าวเสริมในรายงานด้วยว่า วิกฤตอุทกภัยรุนแรงในหลายประเทศ รวมถึง ประเทศไทย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคนี้เติบโตชะลอตัวลงตามที่ทำนายเอาไว้ เมื่อบริษัทหลายแห่งในภูมิภาคดังกล่าวยังคงถูกบีบให้ต้องระงับสายการผลิต สืบเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานขาดช่วง ตลอดจนขาดแคลนชิ้นส่วนและอะไหล่ป้อนโรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น