xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล เผยผลประเมินผลกระทบสุขภาพอนามัยเหล็กต้นน้ำบางสะพาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานชัย บวรรัตนปราน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดสัมมนาเชิงวิชาการและพิจารณามาตรการโครงการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบสุขภาพอนามัย ( HIA ) อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.ชมภูศักดิ์ พูลเกษ หัวหน้าทีมวิจัยใช้เวลาวิจัย 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2551) จนแล้วเสร็จและนำมาเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้ ก่อนนำไปสู่การผนึกแผนงานกับส่วนราชการและเอกชนเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายปานชัย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากการทำ HIA มีระบุใน มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยตนอยากให้มีพหุภาคีมากำกับดูแลเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกัน มีการตรวจสอบผลกระทบทั้งทางด้านน้ำ อากาศ ทั้งโรงงานเก่าและโรงงานใหม่ โดยเฉพาะหน่วยงานของภาครัฐต้องมีหน้าที่ควบคุมและดูแลในด้านสาธารณสุขของประชาชน ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายของเอกชนเจ้าของโครงการที่เปิดให้มีการตรวจสอบในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างเปิดเผย

รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยด้านเชาวน์ปัญญา (IQ) และพัฒนาการด้านเชาวน์อารมณ์ ( EQ ) ของเด็กอายุ 3-12 ปี ที่อยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรมเหล็กอำเภอบางสะพาน กับเขตอุตสาหกรรมอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่เปรียบเทียบ พบว่าพัฒนาการด้าน EQ ของเด็กที่อยู่บริเวณอุตสาหกรรมเหล็ก อ.บางสะพาน สูงกว่าเด็กที่อยู่บริเวณอุตสาหกรรม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และเมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมเหล็ก อ.บางสะพาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่โรงงานเก่า และพื้นที่โครงการที่จะสร้างใหม่ พบว่าเด็กที่อยู่บริเวณโรงงานเก่ามี IQ} EQ และภาวะโภชนาการ ดีกว่าเด็กที่อยู่บริเวณที่ตั้งโครงการใหม่

รศ.ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยา ยังไม่มีข้อมูลที่ปรากฏและมีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถนำมาสรุปให้เห็นถึงอัตราความเจ็บป่วย ความชุกหรือประเด็นเชื่อมโยงที่เกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดบริการตรวจสุขภาพในชุมชน 8 พื้นที่รอบเขตอุตสาหกรรม ( บ.ดอนสำราญ บ.ชัยมงคล บ.นาผักขวง บ.หนองมงคล บ.ปากครอง บ.ท่ามะนาว บ.ท่าขาม ต.กำเนิดนพคุณ ) และการตรวจสุขภาพ พร้อมทั้งจัดทำโครงการเฝ้าระวังนี้ ควรได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการ และองค์กรเอกชนรวมทั้งประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุขในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมให้มีความรู้ความสามารถในการเฝ้าระวังทางสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับมลพิษ โดยข้อเสนอแนะสำคัญคือ ควรจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะชุมชนและองค์กรมาตรฐานกลางเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างยั่งยืน

รศ.วิชัย พฤกษ์ธาราธิกุล กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA ) พบว่า ทั้งคุณภาพอากาศ น้ำ และเสียง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มลภาวะที่สำคัญ คือ อากาศ โดยเฉพาะฝุ่น ซึ่งมีการควบคุมด้วยวิธีการตกตะกอนด้วยไฟฟ้า การสเปรย์น้ำ และถุงกรอง ในการกำจัดสำหรับการตรวจติดตามด้านมลพิษ ได้มีข้อเสนอแนะคือ ควรจัดให้มีการตรวจจัดคุณภาพก่อนดำเนินโครงการขณะก่อสร้าง และเมื่อโครงการสร้างเสร็จและดำเนินการแล้ว ตามจุดที่ได้กำหนดไว้ใน EIA จำนวน 6 สถานี และทีมงานวิจัยได้เสนอแนะให้ตรวจติดตามเพิ่มอีก 4 สถานี นอกจากนั้น ควรมีการเก็บข้อมูลทางด้านคุณภาพอากาศที่อยู่ในชุมชนบ้านกรูด และปากน้ำปราณ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเปรียบเทียบ พร้อมทั้งมีการตรวจสอบและมีการเก็บข้อมูลเป็นระยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น