นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับคงที่แล้ว และเริ่มกระจายสู่ต่างจังหวัดตั้งแต่เมื่อครึ่งเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ชุดเคลื่อนที่เร็วจะต้องตรวจสอบโดยเร็ว โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอจะต้องติดตามวิเคราะห์และควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเตรียมพร้อม ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานกับ อสม. ป้องกันไม่ให้ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดในชนบท โดยในสัปดาห์หน้าจะขับเคลื่อน อสม.กว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ ออกสำรวจครัวเรือนพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว คนอ้วน คนสูงอายุที่สุขภาพไม่ดี เป็นต้น จากนั้นจะทำบัญชีรายชื่อและทำการคัดกรอง หากกลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ส่วนคนที่มีสุขภาพดี ถ้าป่วยให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน สังเกตอาการ โดยมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้วว่า ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน หยุดอยู่กับบ้านได้โดยไม่คิดเป็นวันลา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า มีประมาณร้อยละ 35 เพราะได้รับยาต้านไวรัสช้าเกินไป เนื่องจากเมื่อมีอาการป่วยแล้วไปรับการรักษาที่คลินิก ครั้งแรกไม่หายแล้วไปรักษาที่คลินิกซ้ำอีกครั้ง เมื่อไปโรงพยาบาลจึงไม่ทันการ จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานกับคลินิกภายในจังหวัดว่า หากมีผู้ป่วยที่มีอาการมาแล้ว 2 วัน ไข้ยังไม่ลดให้ส่งโรงพยาบาลทันที และโรงพยาบาลใดที่มีผู้ป่วยอาการหนัก สามารถขอกำลังเสริมระดมแพทย์เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยในพื้นที่ภาคใต้ มีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นศูนย์กลางในการดูแล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า มีประมาณร้อยละ 35 เพราะได้รับยาต้านไวรัสช้าเกินไป เนื่องจากเมื่อมีอาการป่วยแล้วไปรับการรักษาที่คลินิก ครั้งแรกไม่หายแล้วไปรักษาที่คลินิกซ้ำอีกครั้ง เมื่อไปโรงพยาบาลจึงไม่ทันการ จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานกับคลินิกภายในจังหวัดว่า หากมีผู้ป่วยที่มีอาการมาแล้ว 2 วัน ไข้ยังไม่ลดให้ส่งโรงพยาบาลทันที และโรงพยาบาลใดที่มีผู้ป่วยอาการหนัก สามารถขอกำลังเสริมระดมแพทย์เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยในพื้นที่ภาคใต้ มีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นศูนย์กลางในการดูแล