xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.รับทั่วโลกส่งออกติดลบ หวังผ่านไตรมาสแรกจะฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา "จับตาความเสี่ยงภาคอุตสาหกรรมไทย" โดยคาดว่าหลังไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกจะดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม นายนิพนธ์ ยอมรับว่า การส่งออกทั่วโลกยังติดลบ การส่งออกของไทยก็ติดลบเช่นกัน ดังนั้น ผู้บริหารสูงสุดแต่ละองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในช่วงที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงเป็นช่วงพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล หากทุกองค์กรมีบุคลากรที่ทันสมัยปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เสมอจะสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้ ก็จะสามารถแข่งขันและมีคำสั่งซื้อเข้ามา
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยที่เผชิญความเสี่ยงและกระทบมากในขณะนี้ คือ อุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก ตั้งแต่ร้อยละ 30 ขึ้นไป และการใช้กำลังการผลิตขณะนี้ลดลงใกล้วิกฤตปี 2540 ดังนั้น ในภาวะที่ประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้น แรงงานย่อมได้รับผลกระทบ ผู้บริหารแต่ละองค์กรจะต้องหาอุตสาหกรรมอื่นชดเชย เพื่อใช้กำลังผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และบริการ แต่จะไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้ทั้งหมด โดยการส่งออกของไทยไตรมาสแรกปีนี้จะชะลอตัวลง เห็นได้จากเดือนมกราคม ลดลงร้อยละ 25 และทั้งปีจะติดลบร้อยละ 5-8 ค่าเงินบาททั้งปีเฉลี่ย 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
น.ส.นฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา NIDA Business School สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสิ่งที่จำเป็นต้องจับตา 3 จุดหลัก โดยประเด็นที่ต้องจับตามากที่สุด คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่นำมาตรการกีดกันทางการค้าใส่ไว้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบไทยมากที่สุด หนี้เสียสถาบันการเงินในต่างประเทศที่จะทยอยเพิ่มขึ้นและกลายเป็นปัญหาตามมา และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่าขั้นต่อไปจะออกมาอย่างไร เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากจะไม่สามารถวางแผนรับมือได้ สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะส่งออกค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดผู้ซื้ออย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น