นายแพทย์ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ ปล่อยเงินกู้ของกองทุนที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายสิทธิการกู้ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 - 4 ที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเรียนต่อจนจบได้ ว่าเงินที่ปล่อยให้กู้ยืม จะเป็นแบบทวีคูณ ไม่ใช่จ่ายครั้งเดียว เนื่องจากจะมีนักศึกษาเข้ามาใหม่ทุกปี และนักศึกษาเก่ายังคงศึกษาอยู่ ดังนั้นแม้ปีนี้จะมีงบประมาณเพียงพอที่จะรองรับการขยายสิทธิให้กู้ยืมเงิน แต่เกรงว่าในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องของกองทุน ส่วนเงินจำนวน 10,000 ล้านบาทที่เหลืออยู่ เป็นเงินสำรองเพื่อความมั่นคงของกองทุนนั้น หากนำไปปล่อยให้กู้ เงินสำรองจะลดลงไปเป็นธรรมดา ซึ่ง กยศ. ได้ชี้แจงข้อมูลต่างๆ ให้รัฐบาลทราบแล้วว่ากองทุนมีสถานภาพทางการเงินอย่างไร และการให้กู้จะทำให้มีภาระทางการเงินอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงบประมาณ ต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นนโยบายต่อเนื่องที่ต้องจัดสรรงบประมาณเข้ามาดำเนินการ
นายแพทย์ธาดา กล่าวด้วยว่า แต่ละปีจะมีนักศึกษาใหม่ประมาณ 300,000 - 400,000 คน และมีผู้ยื่นกู้ประมาณ 100,000 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ จากภาวะเศรษฐกิจ เพราะผู้ปกครองอาจมีรายได้ลดลง ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิกู้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับนักศึกษาปี 2 - 4 อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคงต้องมีการคัดกรองคุณสมบัติโดยละเอียด
นายแพทย์ธาดา กล่าวด้วยว่า แต่ละปีจะมีนักศึกษาใหม่ประมาณ 300,000 - 400,000 คน และมีผู้ยื่นกู้ประมาณ 100,000 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ จากภาวะเศรษฐกิจ เพราะผู้ปกครองอาจมีรายได้ลดลง ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิกู้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับนักศึกษาปี 2 - 4 อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคงต้องมีการคัดกรองคุณสมบัติโดยละเอียด