xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันเหล็กฯเตรียมถก BOI เดินหน้าโครงการเหล็กต้นน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เพื่อให้โครงการเหล็กต้นน้ำในประเทศสามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว สถาบันเหล็กฯ จะเข้าไปหารือกับนางอรรชกา ศรีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเลือกตัวนักลงทุนที่จะได้รับการส่งเสริมการลงโครงการเหล็กต้นน้ำเอาไว้ก่อน ในระหว่างที่สถาบันเหล็กฯ เดินหน้าศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ เพราะปี 2552 เป็นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นจึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของรองรับโครงการลงทุนเหล็กต้นน้ำ ซึ่งหากมีการก่อสร้งก็จะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีครึ่ง- 4 ปี
สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับโครงการเหล็กต้นน้ำ จะศึกษาว่า หากจะมีโครงการลงทุนเหล็กต้นน้ำเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทั้งผลกระทบทางทะเล และบนชายฝั่ง รวมถึงผลกระทบทางสังคม สุขอนามัย ตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ซึ่งการดำเนินการบางเรื่องเช่นผลกระทบทางทะเลอาจใช้เวลาศึกษานานกว่า 1 ปี ซึ่งสถาบันเหล็กฯ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ทำการศึกษา โดยการศึกษาจะดำเนินการทั้งพื้นที่มีการศึกษาอยู่เดิมตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่สถาบันเหล็กหาเพิ่มเติม โดยจะมีการส่งนักสำรวจลงไปวิเคราะห์สภาพใต้ทะเลถึงสภาพทางธรรมชาติว่า มีปะการังหรือไม่อย่างไร และจะถึงการไหลเวียนของกระแสน้ำในฤดูต่างๆ หากมีการก่อสร้างโครงสร้างในทะเลแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และตลอดจนวิธีการก่อสร้างที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนพื้นที่บนบกก็จะพิจารณาด้วยเช่นกันว่า พื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในตัวเลือกที่จะรองรับโครงการเหล็กต้นน้ำกระแสลมเป็นอย่างไรบ้างและหากก่อสร้างโรงงานจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ขณะเดียวกัน จะดำเนินการศึกษาผลกระทบทางสังคม สุขอนามัยซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำไปสู่การวางหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชน
นายวิกรม กล่าวว่า พื้นที่ 4 แห่งตามที่ สศช.ศึกษาความเหมาะสมไว้ คือ จ.ชุมพร บริเวณ อ.ปะทิว จ.นครศรีธรรมราช อ.สิชล และ อ.ขนอม สุราษฎร์ธานี ที่ อ.ดอนสัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ อ.กุยบุรี นั้น สถาบันเหล็กฯ เห็นว่า จ.ชุมพรมี ความเหมาะสมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการประเทศไทยใช้เหล็กประมาณปีละ 12 ล้านตัน โดย 7 ล้านตัน เป็นเหล็กคุณภาพทั่วไป และอีก 5 ล้านตัน เป็นเหล็กคุณภาพพิเศษนั้น หากเกิดการลงทุนในประเทศไทย จะมีระบบสาธารณูปโภคลงทุนตามมาอีกจำนวนมาก ประโยชน์ที่ได้นอกจากลดการนำเข้าเหล็กแล้ว ยังได้ผลประโยชน์จากการใช้ระบบสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากโครงการเหล็กต้นน้ำอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น