xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยเด็กไทยเกิดใหม่เฉลี่ยเป็นโรคธาลัสซีเมียชั่วโมงละเกือบ 2 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันธาลัสซีเมียโลก ซึ่งโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดจางเรื้อรังทางพันธุกรรม พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ ในไทยมีผู้เป็นโรคนี้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคแล้ว คือมีปัญหาซีด เลือดจางเรื้อรังประมาณ 630,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 1 ของประชากร และกลุ่มที่มียีนธาลัสซีเมียแอบแฝง เรียกว่าเป็นพาหะโรค คือไม่มีอาการป่วย ร่างกายปกติ สุขภาพแข็งแรง แต่สามารถถ่ายทอดความผิดปกติไปสู่ลูกได้ ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้มากถึงร้อยละ 40 ของประชากร หรือประมาณ 25 ล้านคน ถือว่าสูงมากและเป็นอันดับหนึ่งของโลก สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้มีผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 630,000 คน ต้องรักษาตลอดชีวิต ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้น 13,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 2 คน รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ประมาณปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท
นายไชยา กล่าวต่อว่า ในการป้องกันปัญหา สธ.ได้จัดทำแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2550-2554 เพื่อลดจำนวนเด็กไทยเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่ง จัดระบบบริการป้องกัน ควบคุม และรักษาพยาบาลโรคธาลัสซีเมียที่ได้มาตรฐาน ให้บริการตรวจคัดกรองค้นหาคู่สมรสเสี่ยงมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง คาดว่าภายในเวลา 5 ปี จะสามารถลดผู้ป่วยรายใหม่ชนิดรุนแรงลงร้อยละ 50 หรือลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 6,500 ราย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 32,197 ล้านบาท
ด้าน น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการป้องกันโรคนี้ ประชาชนสามารถหาความผิดปกติได้ ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมีย ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ อายุ 15-59 ปี ทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะแต่งงาน หรือกำลังวางแผนจะมีลูก และผู้ที่มีญาติในครอบครัวเป็นพาหะหรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โดยเข้ารับบริการปรึกษาและตรวจได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือโรงพยาบาลแม่และเด็กเดิมทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น