xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.1 ใน 3 ค้านแทรกแซง ยธ.อุ้ม "แม้ว" - เกือบครึ่งค้านยุบสภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของเอแบคโพลล์ เรื่องความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชนต่อสถานการณ์การเมืองและสังคมไทยขณะนี้ ซึ่งได้สำรวจความเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 3,148 ตัวอย่างใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-29 มี.ค. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 4.1 อยากเห็นระดับปานกลาง และมีประชาชน เพียงร้อยละ 7.1 ที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขน้อยถึงน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 อยากให้สื่อมวลชนเสนอข่าวให้คนไทยรู้สึกดีต่อกันมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 80.3 คิดว่าความสงบสุขทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ร้อยละ 62.4 วิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 58.2 วิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมือง ร้อยละ 57.1 คิดว่า การแบ่งขั้วทางการเมืองจะทำให้สังคมไทยแตกแยก และร้อยละ 53.9 คิดว่าสังคมไทยกำลังเข้าใกล้สภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนเข้าไปทุกทีแล้ว
ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังมีทุกข์มากถึงมากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ คือ ภาคเหนือ ร้อยละ 71.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 70.5 ภาคใต้ ร้อยละ 65.6 ภาคกลาง ร้อยละ 53.5 และคนกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 39 แต่เมื่อสรุป 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความทุกข์พบว่า คนภาคเหนือกำลังทุกข์เพราะมลพิษทางอากาศ-เศรษฐกิจ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกข์เพราะภัยแล้ง-เศรษฐกิจ คนภาคใต้ทุกข์เพราะความไม่เป็นธรรม-เศรษฐกิจ คนภาคกลางทุกข์เพราะเศรษฐกิจ-ความไม่ปลอดภัย ส่วนคนกรุงเทพฯ ทุกข์เพราะ การเมือง-เศรษฐกิจ เป็นหลัก
นายนพดล กล่าวว่า การสำรวจยังพบว่าประชาชนเกินครึ่ง หรือร้อยละ 54.8 เห็นด้วยกับแนวทางการจัดการกับปัญหาการบุกรุกป่าในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศขณะนี้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน จะได้ลดการบุกรุกป่าแบบถาวร เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร และลดปัญหาคอร์รัปชั่น กำจัดผู้มีอิทธิพล ในขณะที่ร้อยละ 11.3 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 33.9 ไม่มีความเห็น
เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อฝ่ายการเมืองในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.5 กังวล ร้อยละ 24.6 ไม่กังวล และร้อยละ 37.9 ไม่มีความเห็น โดยคนที่กังวลมากสุดหรือร้อยละ 66.1 เป็นคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนมีเพียง1 ใน 5 หรือร้อยละ 19.2 เท่านั้นที่กังวล ส่วนคนที่เลือกพรรคอื่นๆ ร้อยละ 32 กังวลเช่นกัน และเมื่อจำแนกตามภาค พบคนภาคใต้กังวลมากสุดหรือร้อยละ 50.9 รองลงมาคือ คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 39.6 และคนภาคกลางร้อยละ 36
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวว่า เอแบคโพลล์ยังสอบถามถึงการสนับสนุนหากมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยพบว่า ประชาชน 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.7 พร้อมสนับสนุนการชุมนุมเพื่อต่อต้านการแทรกแซง ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ไม่พร้อมสนับสนุน และร้อยละ 46.7 ไม่มีความเห็น ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่าสัดส่วนคนภาคใต้พร้อมสนับสนุนมากกว่าทุกภาค รองลงมาคือคนกรุงเทพมหานครและภาคกลาง อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.8 ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะอยากให้รัฐบาลทำงานพิสูจน์ตนเองก่อน เห็นว่าจะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินถ้าเลือกตั้งใหม่ ทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น สถานการณ์อาจแย่ลงไปอีก และการทำงานช่วยประชาชนจะไม่ต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 13 เห็นด้วย และร้อยละ 37.2 ไม่มีความเห็น โดยคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เห็นด้วยมากที่สุด รองลงมาคือคนภาคกลาง และคนภาคเหนือตามลำดับ
เมื่อถามถึงทางออกของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ พบว่าอันดับแรก ร้อยละ 39.1 ระบุต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ไม่หวังพึ่งรัฐบาล รองลงมาคือร้อยละ 19.9 ระบุประชาชนควรรักสามัคคีกัน สมานฉันท์ ช่วยกันแก้ปัญหา อันดับ 3 ร้อยละ 17 ระบุให้อดทน อยู่ในความสงบ วางเฉย ไม่ก่อความวุ่นวาย ร้อยละ 12.6 ช่วยกันดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 8.9 ทำตามนโยบายรัฐบาล เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ร้อยละ 6.3 ระบุให้เป็นกลาง มีใจเป็นธรรม มองปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในแง่ดี และร้อยละ 5.1 ระบุให้ใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร มีสติอยู่ตลอดเวลา ติดตามข่าวสารเป็นระยะ และดูแลความปลอดภัยของตนเอง
นายนพดล กล่าวว่า ผลวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ และรัฐบาล ที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่อยากเห็นสังคมไทยสงบสุข และเชื่อว่าความสงบสุขจะทำให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ นอกจากนี้ รัฐบาลและฝ่ายการเมืองน่าจะนำเรื่องความทุกข์ของประชาชนในแต่ละภูมิภาคและสาเหตุของความทุกข์ไปประกอบการพิจารณาออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความทุกข์ของประชาชนมากกว่าเรื่องปัญหาการเมืองที่ไกลตัวประชาชนและเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะตัวบุคคล และในกรณีที่ประชาชนจำนวนมากกังวลถึงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและพร้อมสนับสนุนเพื่อต่อต้านการแทรกแซงทุกรูปแบบนั้น เนื่องจากประชาชนไม่อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลและไม่ใช่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น