xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ธรรมดา ชุมชนท่องเที่ยวอพท.+เครือข่าย คว้า 6 รางวัลระดับนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย คว้ารางวัลชนะเลิศ PATA Grand Award เป็นครั้งแรกของเมืองไทย
อพท. ปลื้ม ดันชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ+ภาคเครือข่าย คว้า 6 รางวัลนานาชาติ จาก PATA นำโดยกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ PATA Grand Award เป็นปีแรกของเมืองไทย ร่วมด้วยรางวัลระดับ Gold Awards อีก 5 รางวัล

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. รายงานว่า ชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบและหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่พิเศษ สามารถคว้ารางวัลด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม จาก “สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” หรือ PATA ประจำปี พ.ศ. 2568 มาครองรวมทั้งหมด 6 รางวัล โดยคว้ารางวัลชนะเลิศระดับ Grand Award จำนวน 1 รางวัล และรางวัลระดับ Gold Awards อีก 5 รางวัล โดยทาง PATA ประกาศผลผู้ชนะรางวัลดังกล่าวไปเมื่อวันที่
15 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา

สำหรับรางวัล ที่ชมชนท่องเที่ยวอพท.+ภาคีเครือข่าย ได้รับจาก PATA ประจำปี พ.ศ.2568 ประกอบด้วย

รางวัลชนะเลิศ PATA Grand Award 2025 ด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม (Sustainability and Social Responsibility: SSR) จำนวน 1 รางวัล ในผลงาน “การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นอย่างยั่งยืน (Sustainable Cultural Heritage Preservation of the Ban Na Ton Chan Homestay Community Enterprise)”

กลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย คว้ารางวัลชนะเลิศ PATA Grand Award เป็นครั้งแรกของเมืองไทย
รางวัล PATA Gold Awards 2025 จำนวน 5 รางวัล ได้แก่

1. ประเภท การริเริ่มด้านการปฏิบัติการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีที่สุด (ระดับแหล่งท่องเที่ยว) (Best Climate Action Initiative (Destination) ในผลงาน “ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ปลดปล่อยคาร์บอนอย่างสมดุล (Carbon Neutral Community-based Tourism Prototype)” 

2. ประเภท การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All: Best Inclusion and Diversity Initiative) ในผลงาน “การริเริ่มด้านการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มและความแตกต่างหลากหลายที่ดีที่สุด (Community-based Tourism for All : CBT for All)” 

3. ประเภท การปรับตัวและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว (ทุกพื้นที่) (Destination Resilience (All Destinations)) ในผลงาน “พื้นที่สร้างสรรค์ สู่การพลิกฟื้นคืนเมืองเก่าสงขลา สู่ย่านเมืองเก่าที่มีชีวิต (Creative Spaces Revitalizing the Old Town into a Lively Heritage District)”

เมืองเก่าสงขลา

บ้านสันทางหลวง จ.เชียงราย
4. ประเภท การริเริ่มด้านการพัฒนาบทบาทสตรีที่ดีที่สุด (Best Women Empowerment Initiative) ในผลงาน “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน: กรณีศึกษา บ้านสันทางหลวง จังหวัดเชียงราย (Women’s Empowerment in Driving Community-Based Tourism: A Case Study of Ban San Thang Luang, Chiang Rai Province)” 

5. ประเภท การริเริ่มด้านการพัฒนาบทบาทเยาวชนที่ดีที่สุด (Best Youth Empowerment Initiative) ในผลงาน “กลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง” (องค์กรสาธารณประโยชน์) SE For Youth in Thailand - Loei Youth Saving Group / SE For Youth in Thailand
 
ขณะที่ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ได้รับ 2 รางวัล PATA Gold Awards 2025 ในด้านการส่งเสริมการตลาด ประเภท Best Integrated Digital Marketing Campaign (Destination) “Love Season” Initiative และ Best Travel Photography “The Hidden Romance of Sam Roi Yot”

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท.
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบของ อพท. รวมถึงหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งปีนี้นับเป็นปีแรกของการได้รับรางวัลชนะเลิศ หรือ PATA Grand Award 2025 ถือเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่ได้รับการยอมรับถึงกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนของ อพท. ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ อพท. ดำเนินงานภายใต้ปรัชญาการทำงาน Co-Creation ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมเป็นเจ้าของ ตามแนวทางเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ติดตามและประเมินผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับชุมชนท่องเที่ยวและหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่พิเศษ กระบวนการทำงานและชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลนี้ จะได้เป็นต้นแบบในการขยายผลองค์ความรู้ไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อพัฒนาจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล รองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มุ่งเป้าหมายกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

สำหรับ อพท. ปัจจุบัน ยังมีเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมาตรฐานสากลและเกิดผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติสำหรับหน่วยงานภาคีในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงยังมีพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวและพื้นที่พิเศษที่พัฒนาเป็นต้นแบบ อยู่ระหว่างการพิจารณาการรับรองมาตรฐานและรางวัลทางการท่องเที่ยวในระดับประเทศและนานาชาติ และพร้อมส่งมอบสู่ตลาดการท่องเที่ยวคุณภาพสูงต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น