บันทึกประวัติศาสตร์ ประชาชนกว่า 12,000 คน ร่วมเดิน-วิ่งลอยฟ้าบน "สะพานทศมราชัน" ถือเป็นโอกาสพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้ขึ้นไป เดิน- วิ่ง บนสะพานแห่งนี้ ซึ่งหลังจากนี้สะพานทศมราชันจะเปิดใช้งานจริงให้รถวิ่งตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดกิจกรรม "เดิน-วิ่งลอยฟ้า มหกรรมสุขเต็มสิบ บนสะพานทศมราชัน" แสดงความสามัคคีและเฉลิมฉลองการเปิด “สะพานทศมราชัน” ในช่วงเช้ามืดของวันที่วันที่ 26 มกราคม 2568 งานนี้มีประชาชนมาร่วมทำกิจกรรมเดิน-วิ่ง กันอย่างคับคั่งกว่า 12,000 คน ซึ่งถือเป็นโอกาสพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีคนโอกาสได้ขึ้นไป เดิน- วิ่ง บนสะพานแห่งนี้ โดยหลังจากนี้สะพานทศมราชันจะเปิดใช้งานจริงให้รถวิ่งตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในนามการทางพิเศษฯ “ขอขอบคุณประชาชนคนไทยทั่วประเทศและชาวต่างชาติทุกท่าน ที่มาร่วมบันทึกความทรงจำในกิจกรรมเดิน-วิ่งลอยฟ้า มหกรรมสุขเต็มสิบ ถือเป็นโอกาสพิเศษเดียวในชีวิตนักวิ่งกับสะพานทศมราชัน ซึ่งสะพานแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางสัญจรที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม แต่ยังเป็นสะพานแห่งพลังใจที่เชื่อมทุกคนสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่กับมหกรรมสุขเต็มสิบในครั้งนี้ ทั้งนี้ กทพ. ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรทุกท่าน ตลอดจนทีมงานเบื้องหลังที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมฯ บันทึกความทรงจำ และการสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี”
สำหรับกิจกรรมเดิน-วิ่งลอยฟ้า "มหกรรมสุขเต็มสิบ" บนสะพานทศมราชัน มีประชาชนจากทั่วประเทศทั้งนักวิ่งมืออาชีพและผู้ที่ต้องการบันทึกความทรงจำร่วมกันในประวัติศาสตร์ของสะพานฯ แห่งนี้ โดยใช้ระยะทางเดิน-วิ่ง รวม 10 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของกิจกรรมตั้งอยู่บนทางขึ้นสะพานทศมราชัน มุ่งหน้าสู่ด่านฯ บางโคล่ 2 โดยบริเวณกลางสะพาน มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับพรและความเป็นสิริมงคล ซึ่งกิจกรรมฯ นี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้สัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษ บนสะพานทศมราชัน ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย อีกทั้ง ยังส่งเสริมให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพผ่านการเดิน-วิ่งอีกด้วย
“สะพานทศมราชัน” อีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเป็นสะพานแห่งใหม่เชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก มุ่งสู่ภาคใต้ รองรับการจราจรได้ 8 ช่องจราจร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 และการเดินทางสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ความพิเศษของสะพานทศมราชันเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความกว้างที่สุดของประเทศไทย
สะพานทศมราชันสามารถรับแรงลมได้สูงถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง และทันสมัยโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นไทยอันทรงคุณค่า
หลังจากนี้สะพานทศมราชันจะเปิดใช้งานจริงให้รถวิ่งตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2568 เป็นต้นไป