xs
xsm
sm
md
lg

เดินเที่ยว “เสาชิงช้า” หัวใจแห่งเกาะรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ย่านเสาชิงช้า หัวใจแห่งเกาะรัตนโกสินทร์
ชวนไปเดินเล่นตามรอยน้องเนยกับพี่อาโปที่ย่าน “เสาชิงช้า” ใจกลางย่านพระนครแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ชมเสาชิงช้า เช็คอินป้ายจังหวัดที่ยาวที่สุดในโลก ไหว้พระวัดสุทัศน์ฯ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร

เมื่อไม่กี่วันก่อน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพิ่งเปิดตัวแคมเปญ “สุขทันทีกับอาโปและน้องเนย” ชวนเที่ยวไทยแบบคิ้วท์คิ้วท์ ชิม ชม ช้อป และชิลล์ ซึ่งในกิจกรรมนี้ก็มีการชวนไปเที่ยวตามรอย "น้องเนยและพี่อาโป" โดยจุดแรกที่ชวนมัมหมีและแฟนๆ ของอาโปไปตามรอยนั้นก็คือย่าน “เสาชิงช้า” แลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก และมีการขุดคลองรอบกรุงขึ้น ครั้งนั้นพระองค์จึงกำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครหรือ “สะดือเมือง” ขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ รวมถึงเสาชิงช้า และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญอย่างวัดสุทัศนเทพวรารามอีกด้วย

เสาชิงช้า

เสาชิงช้า
สำหรับ “เสาชิงช้า” ที่เห็นว่าเป็นสีแดงสด ตั้งตระหง่านอยู่บนเกาะกลางถนน เป็นดังสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน เสาชิงช้าเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่ทาสีแดง มีเสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ใช้เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ในอดีตนั้นมีการทำพิธีโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้ากันทุกปี แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็ได้เลิกไปเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะประเพณีโล้ชิงช้านี้มีค่าใช้จ่ายสูง เมื่องดไปในรัชกาลที่ ๗ แล้วก็ไม่เคยมีการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าอีกเลย แต่ยังคงมีพิธีตรียัมปวาย ซึ่งทำพิธีโล้ชิงช้าขนาดเล็กในเทวสถานตามโบราณราชประเพณี

โบสถ์พราหมณ์
พูดถึงเสาชิงช้า ก็ต้องโยงไปถึง “เทวสถาน” หรือ “โบสถ์พราหมณ์” ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ พร้อมๆ กับการสร้างวัดสุทัศนฯ โดยรัชกาลที่ ๑ มีพระราชประสงค์จะสร้างศาสนาสถานของพราหมณ์หลวงขึ้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทวรูปฮินดูอันเป็นรูปเคารพภายในเทวสถานมาจากเมืองสุโขทัย

ภายในเทวสถานมีโบสถ์ 3 หลังด้วยกัน หลังแรกทางซ้ายมือเรียกว่าสถานพระอิศวร ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรปางประทานพร ซึ่งเป็นเทวรูปสัมฤทธิ์ศิลปะสุโขทัยที่เก่าแก่ดั้งเดิมและงดงามมาก บนพระเศียรสวมเทริด พระพักตร์เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย และนอกจากนั้น ภายในวิหารหลังนี้ยังมีแผ่นไม้กระดานที่ใช้โล้ชิงช้าในอดีตอีกด้วย

ส่วนโบสถ์หลังกลาง เรียกสถานพิฆเนศวร ประดิษฐานองค์พระพิคเณศ ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัยเช่นเดียวกับพระศิวะ และโบสถ์หลังขวาสุดเรียกว่าสถานพระนารายณ์ ประดิษฐานเทวรูปของพระนารายณ์และพระลักษณมี ส่วนพระพรหมประดิษฐานอยู่ในศาลด้านหน้าสถานพระศิวะ อีกทั้งยังมีศิวลึงค์อยู่ในศาลาโปร่งระหว่างสถานพระศิวะและสถานพิฆเนศวรอีกด้วย โดยในเทวสถานนี้มีป้ายแนะนำลำดับการไหว้เทวรูป โดยให้เริ่มจากสักการะพระพิคเณศ ตามด้วยพระนารายณ์ พระพรหม ศิวลึงค์ และพระอิศวรตามลำดับ

ป้ายชื่อจังหวัดที่ยาวที่สุดในโลก

สัญลักษณ์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
กลับมาที่บริเวณเสาชิงช้า ฝั่งหนึ่งที่เป็นลานกว้างนั่นก็คือ “ลานคนเมือง” ลานกว้างที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งด้านหลังก็คือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และบริเวณลานคนเมืองแห่งนี้ ยังเป็นจุดเช็คอิน “ป้ายชื่อจังหวัดที่ยาวที่สุดในโลก” เป็นป้ายชื่อของกรุงเทพมหานครในชื่อเต็ม “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์” ซึ่งจัดสร้างขึ้นพร้อมกับป้ายชื่อกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลอง 220 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยในจุดเดียวกันนี้ยังมีประติมากรรม “สัญลักษณ์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” อีกด้วย

พระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม

พระศรีศากยมุนี
ข้ามมาอีกฝั่งถนนคือ “วัดสุทัศนเทพวราราม” วัดที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ.2350 วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปองค์สำคัญพระดิษฐานอยู่ในพระวิหารคือ “พระศรีศากยมุนี” (หลวงพ่อโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

ส่วนในพระอุโบสถ ประดิษฐาน “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ องค์พระประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูงเด่น เบื้องหน้ามีพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ นั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์

พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์

พระพุทธเสฎฐมุนี
นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีพระพุทธรูปสำคัญที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในเมืองไทย เพราะเป็นพระพุทธรูปที่หล่อมาจากกลักฝิ่นทองเหลือง ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญที่ต้องเดินลึกเข้าไปในเขตสังฆาวาสนั่นเอง เหตุที่หล่อพระพุทธรูปมาจากกลักฝิ่นนั้นก็เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ไม่โปรดให้ประชาชนสูบฝิ่น ในปี 2382 ตอนนั้นมีการปราบการค้าฝิ่นครั้งใหญ่ ได้ทั้งฝิ่นดิบฝิ่นสุกเกือบๆ 2 แสนกิโลกรัม มีการนำฝิ่นเหล่านี้มาเผาทิ้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ส่วนกลักฝิ่นและกล้องสูบฝิ่นที่เป็นทองเหลืองเหล่านั้นได้นำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปนามว่า “พระพุทธเสฎฐมุนี”

วัดเทพมณเฑียร
ชมวัดพุทธกันไปแล้ว ขอเปลี่ยนอารมณ์มาชมวัดฮินดูกันบ้างดีกว่า ด้านข้างวัดสุทัศน์ เป็นที่ตั้งของ “วัดเทพมณเฑียร” ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนภารตะวิทยา ข้างๆ โรงเรียนเบญจมราชาลัย โดยก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างวัดเทพมณเฑียรนี้ ชาวฮินดูได้พร้อมใจกันจัดตั้งสมาคม “ฮินดูสภา” ขึ้นและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมฮินดูสมาช” มาจนถึงปัจจุบัน และหลังจากนั้นทางสมาคมก็ได้จัดตั้งโรงเรียนภารตวิทยาลัยขึ้นในบริเวณเดียวกัน โดยรับนักเรียนทุกเชื้อชาติศาสนาให้เข้าเรียนร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก

เทพองค์ประธาน ในโบสถ์เทพมณเฑียร
และหลังจากสร้างโรงเรียนเรียบร้อยแล้วก็ได้สร้างโบสถ์เทพมณเฑียรขึ้น และได้อัญเชิญเทวปฏิมา ปฏิมาของพระผู้เป็นเจ้าและเทพยดาอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวฮินดูมาจากประเทศอินเดีย โดยรูปเคารพเทพเจ้าเหล่านี้ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร มีเทพองค์ประธานก็คือพระนารายณ์และพระนางลักษณมี นอกจากนั้นก็มีเทวรูปพระศิวะ พระพิฆเนศ พระกฏษณะ เจ้าแม่อุมาเทวี ฯลฯ และยังมีเทวรูปของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาในศาสนาพุทธด้วย นั่นเพราะเมื่อมีพุทธศาสนาเกิดขึ้น มีผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนมาศรัทธาในพระพุทธศาสนาแทน ทำให้เกิดการสร้างคติความเชื่อของฮินดูที่ว่า ปางอวตารของพระนารายณ์ปางที่ 9 นั้น ได้อวตารมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสมือนว่าทำให้พระพุทธศาสนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูนั่นเอง ทั้งนี้ผู้ที่ศรัทธาสามารถขึ้นมากราบไหว้เหล่าเทพด้านบนได้โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ด้านหน้าโรงเรียน

เดินเที่ยวย่านนี้กันอย่างเต็มอิ่ม ถ้าหากใครอยากเติมเต็มความอิ่มท้องบ้าง ต้องบอกเลยว่าในละแวกนี้มีร้านอร่อยระดับตำนานให้เลือกกินมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มนต์นมสด ข้าวมันไก่ลั่นฟ้า ส.หน้าวัง มิตรโกหย่วน นันฟ้าเป็ดย่าง เป็นต้น



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น