“พิพิธภัณฑ์แร่-หิน” เป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ ได้สั่งตัวอย่างแร่และหินจากต่างประเทศมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมาก เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษาแร่และหินต่างๆ จากของจริง
ต่อมาแร่และหินทั้งหมดได้ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายหลังได้นำไปเป็นอุปกรณ์การศึกษาของแผนกธรณีวิทยาและเหมืองแร่ ซึ่งเปิดสอนเป็นครั้งแรกที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2476 แผนกธรณีวิทยา กองโลหกิจ กรมที่ดินและโลหกิจ เริ่มรวบรวมตัวอย่างแร่และหินในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และนำมาจัดแสดงตั้งแต่ปี พ.ศ.2480
จากนั้นในปี พ.ศ.2491 จึงมีการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์แร่และหิน” ขึ้น ณ บริเวณห้องโถง หรืออาคารเพชร ของกรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน และภายในภายหลังเมื่ออุตสาหกรรมแร่มีความก้าวหน้าทำให้ประชาชนมีความสนใจในเรื่องทรัพยากรแร่เพิ่มขึ้น กรมทรัพยากรธรณีจึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่เพื่อให้จัดแสดงเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น โดยก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2519 และจัดสร้างนิทรรศการถาวรไว้บริเวณชั้น 1 เสร็จ สมบูรณ์ในปี พ.ศ.2527
ในปี พ.ศ.2548 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา” และมีการปรับปรุง เนื้อหาสาระและการจัดแสดงภายพิพิธภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยประกอบไปด้วยนิทรรศการถาวรเรื่องธรณีประวัติ ทรัพยากรธรณี หินและน้ำใต้ดิน เชื้อเพลิงธรรมชาติ วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ธรณีวิทยาประเทศไทย และธรณีพิบัติภัย ภายหลังมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ขึ้นและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2551 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์แร่-หิน” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีการปรับปรุงส่วนจัด แสดง โดยเพิ่มเรื่องของทรัพยากรธรณีสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และทรัพยากรธรณีแร่ที่จัดซื้อจากต่างประเทศ มาให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้
ภายใน “พิพิธภัณฑ์แร่-หิน” มีนิทรรศการต่างๆ ให้เดินชมกันอย่างเพลิดเพลิน โดยแบ่งออกเป็น 8 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์
บอกเล่าประวัติของการกำเนิดพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของกรมทรัพยากรธรณี ที่มีมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จากตัวอย่างที่ได้จากการจัดซื้อจากต่างประเทศและจากการสำรวจในประเทศ นำมาจัดแสดงให้ ประชาชนได้เห็นและรับรู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ของการ เสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
โซนที่ 2 ธรณีประวัติ
ไขปริศนากำเนิดจักรวาลและความเป็นมาของโลก เริ่มจากการระเบิดอย่างรุนแรง ณ จุดจุดหนึ่ง แล้วส่งผลให้เกิดดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ รวมทั้งโลกของเรา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าซและวัตถุต่างๆ แล้วลุกไหม้กลายเป็นสารหลอมเหลวรูปทรงกลมความร้อน และแรงโน้มถ่วงทำให้มวลสารแยกเป็นชั้นๆ เข้าใจสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีสาเหตุจากส่วนเปลือกโลกแตกตัวออกเป็นแผ่นๆ และเคลื่อนที่ อยู่ตลอดเวลา เพราะลอยอยู่บนหินหนืดร้อนจัดที่ไหลวนอยู่ภายในโลก เรียนรู้เรื่องของพื้นผิวโลกที่แม้จะ เป็นหินแข็งก็ยังผุพังสลายตัวได้ตลอดเวลาจาก การกระทำของธรรมชาติ ผ่านโมเดลจำลอง และจิ๊กซอว์ เหตุการณ์การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก
โซนที่ 3 ทรัพยากรแร่
ชมความงามและสีสันอันน่าอัศจรรย์ของแร่ เรียนรู้เรื่องราวของแร่ ที่มา กระบวนการกำเนิดแร่แบบต่างๆ การแบ่งกลุ่มแร่ตามส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติทางกายภาพของแร่ จากนั้นย้อนอดีตไป รู้จักอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รู้จักการทำเหมืองหน้าตาของเหมืองชนิดต่างๆ และที่สำคัญ คือ คุณค่าของแร่ ทรัพยากรใต้พื้นพิภพที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และต่อการพัฒนาประเทศ
โซนที่ 4 หินและน้ำบาดาล
เจาะลึกเรื่องของหิน กำเนิดหิน และวัฏจักรหิน จากหินหนืดร้อนภายในโลกที่แทรกตัวขึ้นมายังเปลือก โลก เมื่อเย็นตัวลงจะเป็นหินอัคนีเมื่อหินอัคนีผุพัง สลายตัวแตกหลุดกลายเป็นตะกอนถูกพัดพาไปสะสมตัวเกิด เป็นหินชั้น และเมื่อหินอัคนีและหินชั้นได้รับความร้อนและแรงกดดันสูง จะเกิดการแปรสภาพกลายเป็นหินแปร
โซนที่ 5 เชื้อเพลิงธรรมชาติ
“เชื้อเพลิงธรรมชาติ” ทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์โลกถวิลหา ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเลียม หรือถ่านหิน รู้จักการเกิด “ปิโตรเลียม” ที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันอยู่ในชั้นหินน้ำมันใต้ผิวโลก บางส่วนได้รับ ความร้อนและ ความกดดันเป็นเวลาหลายล้านปี จนแปรสภาพเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสะสมอยู่ในชั้น หินในรูปของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ตามสำรวจแหล่งกักเก็บเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเล ดูกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ การนำมาใช้ของปิโตรเลียม จากนั้นตามรอยการกำเนิดของถ่านหินซึ่งมีต้นกำเนิด มาจากการสะสมตัวของพืชมาตั้งแต่เมื่อหลายล้านปีก่อน
โซนที่ 6 วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ย้อนอดีตกว่า 3,500 ล้านปีมาแล้ว เพื่อค้นหาที่มาของสิ่งมีชีวิตและวิวัฒนาการ ที่เริ่มจากสิ่งมีชีวิต เซลล์เดียวจนมาถึงมนุษย์ในปัจจุบันผ่านตารางธรณีกาล และซากตึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิต ตามรอยนัก ไปขุด ค้นและสัมผัสกับซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ไทยหลากหลายชนิดที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยล้านปี ซึ่งทั้งหมดเป็น กุญแจสำคัญ ช่วยไขเรื่องราวของชีวิตและสภาพแวดล้อมในอดีตของไทย
โซนที่ 7 ทรัพยากรธรณีต่างประเทศ
ชมความงามและสีสันอันน่าอัศจรรย์ของทรัพยากรธรณีต่างประเทศ ประกอบด้วยตัวอย่างทรัพยากรธรณีของจริงจำนวนมาก
โซนที่ 8 ธรณีวิทยาประเทศไทยและธรณีพิบัติภัย
รู้จักธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานของประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะภูมิประเทศ รู้จักการสำรวจทางธรณีวิทยาและการจัดทำแผนที่ทางธรณีวิทยา และตื่นตากับทรัพยากรธรณีที่สำคัญ เป็นสัญลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ที่นี่ที่เดียว จากนั้นไปทำเข้าใจความเป็นจริงของกฎเกณฑ์ธรรมชาติ สาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของโลก เพื่อเข้าใจถึงความเป็นมาของการเกิดธรณีพิบัติภัยต่างๆ ทั้งสึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดดินถล่ม และแผ่นดินยุบ
“พิพิธภัณฑ์แร่-หิน” ตั้งอยู่ที่ กองธรณีวิทยา ชั้น 1 อาคารมรกต กรมทรัพยากรธรณี ถ.พระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชม วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.30-16.30 น. ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจพิพิธภัณฑ์แร่-หิน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline