#Saveทับลาน เป็นอีกหนึ่งเทรนด์โซเชียลที่กำลังโด่งดังร้อนแรง หลังมีข่าวการเพิกถอนพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ฝั่งจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จนทำให้ในโลกออนไลน์แห่ติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน พร้อมทั้งมีการร่วมลงชื่อคัดค้านการเฉือนป่าทับลานกันเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นเราจึงขอคัดสรร 10 เรื่องน่ารู้ของอุทยานแห่งชาติทับลาน มาบอกเล่ากัน ดังนี้
1.ป่าทับลาน ป่าไม้ถาวร : ป่าทับลานถูกประกาศให้เป็น “ป่าไม้ถาวร” ตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าสงวนแห่งชาติครบุรี) ในปี 2509
2.พื้นที่อนุรักษ์ป่าลาน : ในปี 2518 ป่าทับลานได้รับการจัดตั้งเป็น “วนอุทยานป่าลาน” เพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานทับลาน” ในภายหลัง จากนั้นในปี 2524 ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศไทย
3.ทับลาน อุทยานแห่งชาติใหญ่อันดับ 2 ของไทย : อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นอุทยานที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอับดับ 2 ของเมืองไทย (รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
4.ป่าลุ่มต่ำสุดสมบูรณ์ : อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็น “ป่าลุ่มต่ำ” ที่มีความสมบูรณ์มาก มีการซ้อนทับกันระบบนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคอีสาน ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ ประกอบไปด้วยป่าที่โดดเด่น 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น
5.ป่าลานผืนสุดท้ายของเมืองไทย : อุทยานแห่งชาติทับลาน ยังมี “ป่าลาน” ซึ่งเป็นป่าผลัดใบที่มีต้นลานขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็น “ป่าลานขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศไทย” อันเป็นที่มาของชื่ออุทยานแห่งชาติทับลาน
ต้นลานที่เป็นดังสัญลักษณ์ของป่าทับลาน เป็นพืชในตระกูลปาล์มที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ลานเป็นพืชที่มีช่อดอกใหญ่ที่สุดในโลก
ต้นลานจะออกดอกเพียงครั้งเดียวเมื่อมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จากนั้นลานต้นแม่จะตายลง แต่เมล็ดที่ร่วงหล่นลงมาจำนวนมากจะเกิดเป็นลานต้นใหม่ขึ้นทดแทนเป็นวัฏจักร
สำหรับป่าลานที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งอยู่บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพเป็นป่าโปร่ง มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีต้นลานขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่
6.บ้านเสือโคร่งอันดับ 2 ของไทย : อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่า มีกระทิงและช้างป่านับร้อยตัว มีกวางป่า หมูป่านับพันตัว รวมถึงสัตว์อื่น ๆ อาทิ เลียงผา หมีควาย เก้ง แมวดาว และเสือลายเมฆ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่งในเมืองไทย รองจากกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งจากการสำรวจของนักวิจัยสัตว์ป่าพบว่า มีเสือโคร่งตัวเต็มวัย 12 ตัว และล่าสุดยังเป็นบ้านใหม่ของเสือโคร่ง “บะลาโกล” ที่ย้ายถิ่นจากป่าคลองลานมาอยู่ที่ป่าทับลานแห่งนี้
7.ทับลาน ป่ามรดกโลก : อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของผืนป่ามรดกโลก “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกในปี 2548 ผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลานที่ตั้งอยู่ตรงกลางของป่ามรดกโลก ถือเป็นทางเชื่อมการสัญจรไป-มา ของสัตว์ป่าต่าง ๆ ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติปางสีดา
8.ไฮไลต์ที่เที่ยว : อุทยานแห่งชาติทับลานมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ นำโดย “ผาเก็บตะวัน” ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่เป็นจุดชมวิวอันสวยงาม ทั้งชมทะเลหมอก-พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็น
นอกจากนี้ก็ยังมี “หาดชมตะวัน” ยาวประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำทับลานเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวและพระอาทิตย์ตกอันสวยงาม มี “สวนห้อม” ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวที่มีทั้งน้ำตกและลานกางเต็นท์ และมีน้ำตกอีกหลากหลาย อาทิ น้ำตกทับลาน น้ำตกม่านฟ้า น้ำตกห้วยใหญ่ น้ำตกบ่อทอง และน้ำตกสวนห้อม เป็นต้น รวมถึงมีบ้านพัก และลานกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
9.ป่าทับลานถูกบุกรุก : อุทยานทับลาน แม้จะเป็นป่าในพื้นที่มรดกโลก แต่ป่าใหญ่ผืนนี้ก็ถูกบุกรุกไปไม่น้อย โดย “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ได้เปิดเผยว่า หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. อุทยานแห่งนี้ได้ถูกบุกรุกไปแล้วกว่า 160,000 ไร่ โดยมีการกล่าวโทษดำเนินคดีไปแล้วตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนายทุนและผู้ครอบครองรายใหม่ จำนวน 470 ราย และผู้ที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์จำนวน 23 ราย
10.#Saveทับลาน : เป็นกระแสที่คนไทยจำนวนมากพร้อมใจกันติดแฮชแทค #Saveทับลาน พร้อมทั้งมีการลงชื่อคัดค้านเป็นจำนวนมาก หลังมีข่าวว่าภาครัฐจะเพิกถอนพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติทับลานจำนวนกว่า 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้คงต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า ภาครัฐจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอย่างถูกกฎหมายมาก่อนการประกาศจัดตั้ง อช.ทับลาน ปี 2524 เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินทำกินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งมีประมาณ 5 หมื่นไร่
หรือภาครัฐจะเดินหน้าเฉือนป่าทับลานพื้นที่รวมกว่า 2.6 แสนไร่ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุน นักการเมือง และผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในอนาคต ข้อมูลจาก เว็บไซต์วิกิพีเดียได้ระบุว่า
...จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ต้องสูญเสียพื้นที่ผืนป่ามากที่สุดในครั้งเดียวมากที่สุดในโลก...