xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) ชาววังน้ำเขียวเดือด! โต้อุทยานฯ บิดเบือนชี้นำสังคม งัดหลักฐานยันอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ทับลานปี 24

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาววังน้ำเขียว โคราช เดือด โต้อุทยานฯ ให้ข้อมูลข้างเดียวบิดเบือนความจริงชี้นำสังคม หวังล้มเลิกกันพื้นที่ 2.6 แสนไร่ออกจากเขตอุทยานฯ ทับลาน ยึดแผนที่ “One Map” ตามมติ ครม. 14 มี.ค. 66 พร้อมงัดหลักฐานยันชาวบ้านตั้งรกรากอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ปี 2524 ทับพื้นที่ชุมชนทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน 97 ชุมชน

กรณีที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยจะต้องเฉือนพื้นที่ป่าไปเป็นจำนวนมากกว่า 265,286.58 ไร่ ซึ่งเปิดให้ลงความเห็นตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567 ภายหลังจากมีการนำเสนอข่าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างมาก ต่างหวั่นวิตกว่าต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นจำนวนมากและพื้นที่ส่วนใหญ่อาจตกไปอยู่ในมือของนายทุนรายใหญ่แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาให้กับประชาชนชาวบ้านผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง และจะเป็นการทำลายระบบนิเวศของป่าไม้และสัตว์ป่า นั้น


ล่าสุดวันนี้ (9 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยัง ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายก อบต.ไทยสามัคคี เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า จากกรณีที่อุทยานแห่งชาติทับลานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 8 ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกตื่นตัวกันมาก เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวเนื่องกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออกตามแผนที่วันแมป (One Map) แต่หลังจากที่ทาง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ได้พยายามนำข้อมูลเพียงด้านเดียวมาให้ข่าวชี้นำสังคมให้เกิดความคล้อยตาม เพื่อไม่ให้มีการกันพื้นที่กว่า 2 แสนไร่นี้ออกไปจากเขตอุทยานฯ นั้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก


ทั้งนี้เพราะความจริงการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปี 2524 เป็นการประกาศเขตทับที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 97 ชุมชน ที่ตั้งรกรากอยู่มาก่อนนานแล้ว นับว่าเป็นการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนชุมชนมากที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางอุทยานแห่งชาติฯ และนักอนุรักษ์ต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเรื่องจริง แต่การให้ข่าวของนายชัยวัฒน์ ทำให้เกิดการบิดเบือนจากความเป็นจริงดังกล่าว


ทั้งนี้ เรื่องการกันเขตอุทยานฯ เคยมีมติ ครม.ออกมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2540 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ซึ่งการจะมีมติ ครม.ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาอย่างดีแล้ว เพราะพื้นที่ที่มติ ครม.ให้กันออกไปกว่า 2 แสนไร่นี้ไม่มีสภาพความเป็นป่าหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2524 นั้นมีวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง เพื่อต้องการควบคุมพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการเร่งรีบประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออกมาจำนวนมากถึง 20 แห่งในปีเดียว โดยยึดตามภาพทางอากาศเป็นหลัก ไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ลงพื้นที่มาสำรวจอย่างทั่วถึงแต่อย่างใด ทำให้เกิดการทับซ้อนพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก


สังเกตได้จากพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว เดิมทีนั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่ทางกองทัพภาคที่ 2 ไปตั้งชุมชนไทยสามัคคีขึ้นมา และมีกระบวนการตั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2521 ก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯ ในปี 2524 แต่ภายหลังมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวขึ้นมา บางจุดมีการทำเป็นรีสอร์ต ก็ทำให้เกิดการจับกุมดำเนินคดีต่างๆ จึงกลายเป็นข้ออ้างที่สำนักอุทยานแห่งชาติ นำมาเป็นเหตุไม่ยอมให้มีการกันพื้นที่ออกไป

นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายก อบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ กระบวนการกันพื้นที่มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเสร็จแล้ว ถ้าไม่เชื่อชาวบ้าน ไม่เชื่อผู้นำอย่างตน ก็ไปดูข้อมูลของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทำสรุปไว้อย่างละเอียดและดีมาก แต่ถ้ายังยืนยันว่าจะไม่กันออกมา ชาวบ้านก็จะถูกลิดรอนสิทธิที่ทำมาหากิน เพราะจะทำอะไรก็ไม่ได้ ติดขัดข้อกฎหมายของอุทยานฯ ไปหมด

"ถึงแม้ว่าจะบอกว่ามีมาตรา 64 ของกฎหมายอุทยานฯ แต่เมื่อชาวบ้านจะไปไถที่ทำการเกษตร หรือจะปลูกบ้านเรือน ก็จะถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จ้องที่จะจับกุมดำเนินคดีต่อเนื่อง ถ้าตราบใดที่ยังเป็นเขตอุทยานฯ วิถีชีวิตของชาวบ้านก็จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน จึงขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านด้วย" นายก อบต.ไทยสามัคคี กล่าวทิ้งท้าย

นายกิตฌพัฒน์ จ้ายนอก อายุ 42 ปี ชาวบ้านคุ้มคลองกระทิง
จากนั้นผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังบ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 คุ้มคลองกระทิง ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ภายหลังจากมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานที่ได้มีการประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี ซึ่งกินพื้นที่ไปทั้งหมด 3 ตำบล ได้แก่ ต.ไทยสามัคคี ต.วังน้ำเขียว และ ต.อุดมทรัพย์ ซึ่งเป็นพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ โดยทางอุทยานแห่งชาติทับลานอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานปี 2524 ในการฟ้องร้องชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทางชาวบ้านก็งัดหลักฐานโต้กลับโดยอาศัยการประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2543 ซึ่งได้มีการลงพื้นที่สำรวจและปักหมุดประกาศเขตพื้นที่อุทยานเมื่อปี 2537 โดยในเวลานั้นมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมการเดินสำรวจในครั้งนั้นทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯ


นายกิตฌพัฒน์ จ้ายนอก อายุ 42 ปี ชาวบ้านคุ้มคลองกระทิง บ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 ต.ไทยสามัคคี หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ได้พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูหลักเขตของอุทยานแห่งชาติที่ได้เริ่มเดินสำรวจและปักหมุดในช่วงปี 2537 ซึ่งถนนที่เดินทางไปนั้นเป็นถนนลูกรังที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เดินทางไปทำการเกษตร โดยฝั่งขวามือนั้นเป็นเขตพื้นที่ของชุมชน ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่มาทำการเกษตร ส่วนฝั่งด้านซ้ายมือนั้นเป็นฝั่งของอุทยาน ซึ่งหลังจากเดินทางไปประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากถนนไม่ไกลนักจะเห็นหลักแสดงเขตพื้นที่ของอุทยานฯ ใกล้กันนั้นยังพบหลักแสดงพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์

จากการสอบถามนายกิตฌพัฒน์ทราบว่า หลักแสดงเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นมาก่อนและหลักแสดงเขตพื้นที่อุทยานนั้นทยอยตามมาภายหลังโดยเริ่มมีการปักหลักในช่วงปี 2537 แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ทางอุทยานฯ ทับลานได้ใช้ประกาศของกรมอุทยานฯ ในปี 2524 นั้น ได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก


นายกิตฌพัตน์เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ตนและชาวบ้านในพื้นที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากประกาศปี 2524 ที่มีการประกาศทับพื้นที่ชุมชน ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินประกอบอาชีพ ซึ่งตนและชาวบ้านยืนยันอยากให้ทางอุทยานฯ ใช้ประกาศของปี 2543 ที่มีการสำรวจและแก้ไขใหม่ตั้งแต่ปี 2537 โดยสภาพความเป็นจริงของพื้นที่เป็นชุมชนและเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมาก่อนแล้วก่อนที่จะมีการประกาศปี 2524 โดยเริ่มมาอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงปี 2500 โดยมีหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้าน การตั้งโรงเรียนไทยสามัคคี และการตั้งวัดไทยสามัคคี ก่อตั้งโดยกองทัพภาคที่ 2 โดยใช้ชื่อหมู่บ้านว่า ไทยสามัคคี เพื่อเป็นการต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น โดยปู่ของตนได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2503 ก่อนที่จะสืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นของตนคือรุ่นที่ 3 แล้ว


นายกิตฌพัตน์กล่าวต่อว่า ตนอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกทางอุทยานประกาศเขตพื้นที่ทับพื้นที่ชุมชนกว่า 90 หมู่บ้านรวม 5 อำเภอ ถึงแม้ว่ากระแสสังคมจะมองว่าตนและชาวบ้านในพื้นที่นั้นเป็นผู้บุกรุก ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะเป็นชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาแต่ก่อนแล้ว ส่วนนายทุนจะมีอยู่ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากถ้าดูตามหลักฐานแล้วชุมชนมีอยู่มาก่อนที่อุทยานฯ จะประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ เสียอีก ซึ่งตนและชาวบ้านไม่ต้องการให้ออกเป็นโฉนดที่ดินขอแค่เพียง ส.ป.ก. 4-01 เอาไว้อยู่อาศัยและทำกินเท่านั้นเอง

นางปิ่นแก้ว เหิมขุนทด ชาวตำบลไทยสามัคคี
ขณะเดียวกัน นางปิ่นแก้ว เหิมขุนทด ชาวตำบลไทยสามัคคี ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกทางอุทยานฯ ทับลานฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาล โดยนางปิ่นแก้วบอกว่า ตนมีพื้นที่อยู่ประมาณ 4 ไร่กว่า ซึ่งรับมาจากพ่อของตนซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ประมาณปี 2500 ส่วนเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงนี้เป็นเอกสาร ภบท.5 ซึ่งตนมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2524 ได้มีการประกาศให้พื้นที่บริเวณตำบลไทยสามัคคีเป็นพื้นที่อุทยาน

ต่อมาในปี 2555 ตนถูกอุทยานฯ ทับลานฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งปัจจุบันนี้ตนยังคงต้องไปขึ้นศาลและจะไปขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายนนี้ ซึ่งจากการที่ถูกทางอุทยานฯ ทับลานฟ้องร้องดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อตนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหมดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความเพื่อสู้คดี จ่ายค่าเดินทางไปขึ้นศาลรวมระยะเวลากว่า 12 ปี ตั้งแต่ถูกฟ้องตนเสียเงินไปแล้วหลายแสนบาท


อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมีรีสอร์ตปิดตัวลงชาวบ้านตกงานขาดรายได้ ซ้ำยังมาเจอปัญหาเศรษฐกิจอีก ทำให้ตอนนี้ตนมีความเครียดเป็นอย่างมาก ซึ่งตนอยากให้รัฐบาลดำเนินการตามประกาศปี 2543 ซึ่งเป็นประกาศกันพื้นที่ชุมชนออกจากป่า เนื่องจากหลักฐานเอกสารรวมไปถึงหลักที่แสดงเขตพื้นที่อุทยานปี 43 แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนอุทยานจะประกาศเสียอีก










กำลังโหลดความคิดเห็น