xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ นราธิวาส “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แปลงนาสาธิต
ในอดีตกว่า 40 ปีที่แล้ว “ดิน” ในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างจังหวัดนราธิวาสนั้น เป็นอุปสรรคต่อการเกษตรกรรม แต่หลังจาก ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ขึ้น ปัญหาเรื่องดินก็ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน และศูนย์ฯพิกุลทอง ก็กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่เปรียบเสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” จวบจนปัจจุบัน


แปลงเกษตรผสมผสาน
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศพท.) ได้เปิดศูนย์ฯ ให้การต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) เพื่อเยี่ยมชมในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

จึงเห็นได้ว่า แม้วันเวลาผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ ศูนย์ศึกษาฯแห่งนี้ ก็ยังเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาให้ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาศึกษาดูงานได้ เสมือนเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น


จุดเริ่มต้นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตพื้นที่ภาคใต้ ทรงพบว่าพื้นที่จำนวนมากมีสภาพเป็นพรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยว และมีคุณภาพต่ำ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

พระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ขึ้น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2524 เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาดินอินทรีย์ และดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทาด้านการเกษตร รวมทั้งแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จให้พื้นที่อื่นๆ โดยพื้นที่บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ครอบคลุม 1,740 ไร่ ประกอบไปด้วยที่ตั้งอาคารสำนักงาน แปลงทดลองในที่ลุ่ม บนที่ดอนสวนยางเขาสำนัก และอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน


โครงการแกล้งดิน
"โครงการแกล้งดิน" ถือเป็นโคงการที่โดดเด่นและเป็นต้นแบบที่สำคัญในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นโครงการแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแนวทางในการศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด ทรงใช้พระอัจฉริยะภาพคิดค้นวิธีการที่เรียกว่า“แกล้งดิน” หรือ “ทำให้ดินโกรธ” โดยการทำให้ดินแห้ง และเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา กลายเป็นดินที่มีกรดจัด เปรี้ยวจัด

จากนั้นจึงใช้น้ำชะล้างดินควบคู่ไปกับปูน ซึ่งทรงเรียกว่า “ระบบซักผ้า” เมื่อใช้น้ำจืด ชะล้างกรดในดินไปเรื่อยๆ ความเป็นกรดจะค่อยๆจางลง จนสามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้

การเลี้ยงปลาในน้ำเปรี้ยว
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต
การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นการศึกษา ทดลอง และสาธิตที่ได้รับผลสำเร็จในทุกๆ ด้าน ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการแกล้งดิน การเกษตรทฤษฎีใหม่ การปรับปรุงน้ำเปรี้ยว นิทรรศการป่าพรุ การเลี้ยงสัตว์แบบพื้นบ้าน เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีจุดน่าสนใจอีกหลายฐานเรียนรู้ เช่น ศูนย์บริการวิเคราะห์ดิน ให้บริการวิเคราะห์ดิน น้ำ และคำแนะนำการปรับปรุงบำรุงดิน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของดิน ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

ฐานดิน เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดดิน ชั้นดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน การฟื้นฟูทรัพยากรดินโดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพจากกรมพัฒนาที่ดิน การปลูกหญ้าแฝกและการใช้ประโยชน์ การปลูกพืชปุ๋ยสดและการใช้ประโยชน์ การใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน

แปลงเกษตรผสมผสาน
สวนต้นแบบด้านเกษตรกรรมการปลูกผลไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน เช่น มังคุด ขนุน มะพร้าวน้ําหอม มะยงชิด เพื่อให้มีผลผลิตหมุนเวียนกันไปตลอดปี, สวนไม้มงคลตามหลักความเชื่อ, สวนเฉลิมพระเกียรติฯ รวบรวมพันธุ์ไม้พื้นเมือง

 รวมทั้งยังมีสวนพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่เป็นสวนรวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆที่มีผล ใบ ดอก สีม่วง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงเป็นการนำเอาผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่ได้จากการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านดิน น้ำ ป่าไม้ การพัฒนาอาชีพ และสาธารณสุข มาจัดทำเป็นแปลงสาธิตและจัดแสดงไว้ในรูปแบบของ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภูมิสังคมของตนเองต่อไป


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง กับบ้านโคกสยา 
ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส
โทรศัพท์ 0-7363-1033

 ร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากคนในชุมชน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น