หนึ่งปีมีครั้ง ชาวบ้านพังงาแห่เก็บ “เห็ดเผาะ-เห็ดเหม็ด-ผักหวานป่า” ของอร่อยจากป่า ในเขตอนุญาต อช.เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เพื่อนำไปรับประทานและจำหน่าย โดยปีนี้มีปริมาณเห็ดเผาะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบเห็ดเผาะที่คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกอีกด้วย
หลังฝนแรกช่วงในต้นฤดูฝนโปรยปราย บรรดาเห็ดและพืชผักต่าง ๆ ในผืนป่าจะเติบโตงอกงาม โดยในหลายพื้นที่ของภาคใต้ช่วงนี้จะเป็นฤดูของ เห็ดเผาะ เห็ดเหม็ด และผักหวานป่า ที่ทยอยออกมาได้ ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เก็บไปรับประทานและจำหน่ายเป็นอาชีพสร้างรายได้
สำหรับหนึ่งในสถานที่ที่เป็นดังคลังอาหารจากป่าสำคัญของชุมชนก็คือ ป่าชายหาดในพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง" อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งทางอุทยานฯ ได้อนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปในของป่าได้ในบางโซน โดยเฉพาะในบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ปาง) ทางไปเขาหน้ายักษ์ที่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าเสม็ด และป่าชายเลน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ อช.เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
ปีนี้ (2567) ในช่วงต้นฤดูฝน พบว่าในแต่ละวันจะมีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้าไปเก็บเห็ดต่าง ๆ นำโดยเห็ดเผาะ เห็ดเหม็ด และผักหวานป่า เพื่อนำไปประกอบอาหารในครอบครัวและจำหน่ายสร้างรายได้ในช่วงฤดูฝนกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับ “เห็ดเหม็ด” เป็นเห็ดหายากชนิดหนึ่ง มีให้รับประทานปีละครั้งเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น เห็ดเหม็ดถือเป็นเมนูเด็ดของอาหารชาวใต้ที่นิยมรับประทานกัน โดยชาวบ้านจะนิยมกินคู่กับน้ำพริกมะพร้าวคั่ว หรือนำไปแกงกะทิ และทำเป็นกับข้าวได้อีกหลายเมนู
เห็ดเหม็ดจะออกดอกช่วงต้นฤดูฝน บริเวณพื้นหญ้าโคนต้นเสม็ด จึงได้ชื่อว่า “เห็ดเหม็ด” หรือ “เห็ดเสม็ด”
เห็ดเหม็ดจะมีสีม่วงอ่อน สีขาว มีรสขม ต้องนำไปต้ม 1-2 น้ำ ก่อนรับประทาน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังในการเก็บเห็ดเหม็ดก็คือ เวลาเก็บต้องสังเกตให้ดี เพราะเห็ดมีหลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายกัน บางชนิดมีพิษ ซึ่งชาวบ้านหาเห็ดเป็นประจำจะรู้กันดี
นางสวาท ทองด้วง แม่ค้าข้าวแกงในตลาดท้ายเหมือง เล่าว่า เห็ดเหม็ดเป็นเห็ดที่ค่อนข้างหายาก จะพบมากช่วงก่อนเข้าหน้าฝน ราคาจึงค่อนข้างสูง ช่วงแรกอยู่ที่กิโลกรัมละ200 บาทล่าสุดลดลงเหลือกิโลกรัมละ 100 บาท สำหรับรสชาติของเห็ดเหม็ดนั้น จะมีรสออกไปทางขม หากนำไปรับประทานเป็นอาหาร จะต้องรู้วิธีปรุง ถึงจะอร่อย โดยจะนำไปต้มเพื่อลดความขม จากนั้นนำไปแกงกะทิใส่สับปะรดจะมีรสชาติหวานนิดหน่อยไม่ขมมาก หรือบางคนก็นำไปต้มกินกับน้ำพริก ก็จะอร่อยอีกแบบ
ด้าน นายนาจ พรศรี ชาวบ้านตำบลท้ายเหมือง กล่าวว่าในช่วงต้นฤดูฝนจะชักชวนเพื่อน ๆ ออกมาหาเห็ดไปประกอบอาหารกัน ที่เหลือก็จะเอาไปขายเป็นรายได้เสริม ที่ป่าชายหาดท้ายเหมืองนอกจะมีเห็ดเหม็ดมากแล้ว ยังมีเห็ดเผาะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในพื้นที่มีการนำไปขายกิโลกรัมละ 400 บาท
ขณะที่นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เปิดเผยว่า ทางอุทยานฯได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าในเขตอุทยานฯโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนจะมีเห็ดเหม็ด หรือเห็ดเสม็ด เห็ดประจำถิ่นที่งอกตามป่าต้นเสม็ด
หัวหน้า อช. เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ (2567) เป็นที่น่าแปลกใจที่มีการพบเห็ดเผาะเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ หลังจากในปีที่แล้วมีรายการการพบเห็ดเผาะในพื้นที่และทางอุทยานฯได้เก็บตัวอย่างส่งไปให้ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์ฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจสอบว่าเป็นเห็ดเผาะชนิดเดียวกับทางภาคเหนือหรือไม่เนื่องจากไม่มีรายงานว่าพบเห็ดเผาะในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน ขณะที่ปีนี้พบมากขึ้นก็ได้มีการเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจอีก ขณะที่อยู่ที่ห้องแล็ปในประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเป็นเห็ดเผาะชนิดใหม่ของโลกเลยทีเดียว
#################
ภาพ : อโนทัย งานดี