xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับ “Golden Boy” กลับคืนแผ่นดินไทย 21 พ.ค. นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
กระทรวงวัฒนธรรม เชิญชวนประชาชนไทย เตรียมต้อนรับ “Golden Boy”ประติมากรรมสำริด รูปพระศิวะ
กลับคืนสู่ประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567


ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) ในสหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริด 2 รายการ ซึ่งมีหลักฐานว่าถูกนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ที่รู้จักกันในนามโกลเด้นบอย (Golden Boy) และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จึงมอบหมายให้กรมศิลปากรประสานรายละเอียดขั้นตอนการรับมอบโบราณวัตถุ 2 รายการดังกล่าว ตามข่าวที่รายงานไปแล้วนั้น

ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 กระทรวงวัฒนธรรม จึงเชิญชวนประชาชนไทย เตรียมต้อนรับ “Golden Boy” กลับคืนสู่ประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
"Golden Boy" คือ ใคร? สำคัญอย่างไร ?
"Golden Boy” ประติมากรรมสำริด รูปพระศิวะ ศิลปะสมัยลพบุรี หรือศิลปะเขมรในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 1,000 ปีที่ผ่านมา สันนิษฐานว่าถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานปราสาทบ้านยางหรือปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และมีการลักลอบซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายในปี พ.ศ. 2518

รูปแบบประติมากรรมเป็นบุคคลสวมเครื่องทรงแบบชนชั้นสูง มีขนาดความสูง 129 เซนติเมตร ใช้เทคนิคการสร้างแบบพิเศษด้วยการหล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง มีความงดงามจนได้รับการขนานนามว่า “Golden Boy”

"Golden Boy" เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญของแผ่นดินไทยในอดีต ผ่านความงดงามของฝีมือช่าง และเทคโนโลยีชั้นสูงในการหล่อโลหะของคนโบราณ เป็นของหายาก และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่มคุณค่าในระดับโลก

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
เว็บไซต์ของ The MET บรรยายถึงประติมากรรม "Golden Boy" ว่า "พระศิวะประทับยืน (?)" หรือ Standing Shiva (?) โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นรูปปั้น “พระศิวะในแบบมานุษยรูปนิยม" ซึ่งไม่พบในศิลปะเขมร ซึ่งไม่ตรงกับหลักประติมานวิทยา (Iconography) ใดๆ จึงมีอีกข้อสันนิษฐานว่า อาจไม่ใช่เทพเจ้าแต่เป็นบุคคล และอาจเป็นรูปฉลองพระองค์ "พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์แห่งศรียโสธรปุระ ผู้ครองอาณาจักรพระนคร และเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ "มหิธรปุระ" ซึ่งครองราชย์อยู่นานถึง 27 ปี (พ.ศ.1623-1650)

ส่วนรูปปั้น สตรีนั่งชันเข่าพนมมือ สันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูงในราชสำนัก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว มีความสูง 43 ซม. หล่อด้วยสำริด เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตงานศิลปกรรมสำริดที่มีคุณภาพในช่วงเวลาดังกล่าว

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น