กรมศิลป์ เปิดข้อมูลการตรวจสอบ งานแกะสลักหินรูปสตรีกลางป่าบุรีรัมย์ ระบุไม่ใช่ของโบราณเนื่องจากร่องรอยสลักยังมีความคม และรูปแบบไม่สอดรับกับบริบทงานศิลปกรรมในพื้นที่อีสานใต้ ทั้งยังไม่พบร่องรอยโบราณสถาน-โบราณวัตถุในพื้นที่โดยรอบ
จากกรณีชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเห็ดแล้วพบภาพแกะสลักหินรูปสตรีมีใบหน้าสมบูรณ์บนเขากระเจียวแห่งป่าดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นไวรัลให้ชาวเน็ตไทยถกเถียงกันว่า ว่าเป็นงานเก่าหรือใหม่?
ล่าสุด นายภาคภูมิ อยู่พูล หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ทางศิลปกรรม พบว่ารูปแบบของภาพแกะสลักหินในป่าดงใหญ่ ไม่ใช่ของโบราณ แต่น่าจะถูกสร้างขึ้นในยุคหลัง เนื่องจากไม่เข้ากับบริบทของงานศิลปกรรมที่อยู่ในพื้นที่อีสานใต้ นอกจากนี้ในพื้นที่โดยรอบยังไม่ปรากฏร่องรอยโบราณวัตถุและโบราณสถานเพิ่มเติม
ทั้งนี้ลักษณะโบราณสถานและโบราณวัตถุในพื้นที่อีสานใต้ จะเป็นศิลปะแบบขอม เช่น ทับหลังในปราสาท หรือในพื้นที่ อ.โนนดินแดน มีโบราณสถานสำคัญ คือ ปราสาทหนองหงส์ ซึ่งภาพสลักกลางป่าดงใหญ่ มีผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า คล้ายพระนางสิริมหามายา หรือยักษิณี
หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพสลักนี้สวยงาม ร่องรอยสลักยังมีความคม ซึ่งหากเป็นรูปสลักโบราณที่ผ่านมานับร้อยปี และถูกตั้งกลางแจ้ง จะมีความสึกกร่อนจากลมและแดด
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ระบุว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อน พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ รวมทั้งกุฏิของพระที่แกะสลักก็เคยอยู่บริเวณนี้ และเป็นพระที่มีฝีมือทางศิลปะ ซึ่งสอดรับกับข้อมูลที่มีโพสต์ในโซเชียลว่า ภาพแกะสลักหินนี้เป็นฝีมือของพระอาจารย์ที่แกะสลักไว้เมื่อราว 20 ปีก่อน