ททท.เลย จับมือ 3 อำเภอ ชูไฮไลต์ 4 งานประเพณีที่แตกต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ของเทศกาลสงกรานต์เมืองเลย นำโดยประเพณี “แห่ต้นดอกไม้ใหญ่” หนึ่งเดียวในเมืองไทย ที่ อ.นาแห้ว ที่จัดขึ้นวันแรกในวันที่ 14 เม.ย. นี้
“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย” ร่วมฉลองเนื่องในโอกาสที่ “ประเพณีสงกรานต์” ของไทยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 เชิญชวนนักท่องเที่ยวไปสัมผัสกับ 4 ประเพณีช่วงสงกรานต์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อันแตกต่างของจังหวัดเลย ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ นาแห้ว ภูเรือ และด่านซ้าย ดังต่อไปนี้
แห่ต้นดอกไม้
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จัดขึ้นในวันที่ 14,16,23 เมษายน 2567 ที่ บ้านแสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ หรือ แห่ต้นดอกไม้ใหญ่ เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในไทยของชาวชุมชนบ้านแสงภา อำเภอนาแห้วที่มีมาเกือบ 500 ปีแล้ว
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต โดยจัดขึ้นในช่วงบุญสงกรานต์ หรือ ช่วงวันปีใหม่ไทยของทุกปี
งานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ มีการสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อสร้างวัดศรีโพธิ์ชัยราวกว่า 480 ปี โดยจารึกบนคัมภีร์ใบลานในหอพระไตรปิฎกของวัด กล่าวถึงอานิสงฆ์ของการถวายต้นดอกไม้ในวันขึ้นปีใหม่ไทยว่า ในสมัยก่อนคงมิได้ก่อต้นดอกไม้ที่สูงเทียมปัจจุบัน แต่ก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ แฝงไปด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านแสงภา
การแห่ต้นดอกไม้นั้น อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากความร่วมมือ แรงกาย แรงใจ ของทุกคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่ผู้เฒ่า ผู้แก่ คนหนุ่มสาว หรือเด็กๆ ในช่วงเช้าตรู่ฝ่ายผู้ชายจะมีการเข้าป่าไปตัดไม้ไผ่ซึ่งจะนำมาสร้างเป็นต้นดอกไม้ แล้วหลังจากตัดเตรียมไม้ ก็จะขึ้นโคร่งต้นดอกไม้ หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนของการตกแต่งดอกไม้หลากหลายสีสัน ดอกคูณ เฟื่องฟ้า หางนกยูง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อตกแต่งจนเสร็จ ก็จะเริ่มแห่ต้นดอกไม้เข้าวัด การทำต้นดอกไม้ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวกันเท่านั้น
ขณะที่ในช่วงเย็น ๆ ชาวบ้านจะเริ่มเข้าวัด เพื่อเข้าไปกราบพระประธาน และร่วมกันจุดเทียนตามคานของต้นดอกไม้
จากนั้นเมื่อถึงเวลาสมควรจะเริ่มพิธีกล่าวคำไหว้พระและถวายต้นดอกไม้ พร้อมแห่ไปรอบอุโบสถ 3 รอบ เพื่อบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยมีเสียงของดนตรีพื้นบ้านเคล้าคลอไปอย่างสนุกสนาน
ทุก ๆ ปีจะมีการจัดประเพณีแห่ต้นดอกไม้วันแรกในวันที่ 14 เมษายน หลังจากนั้นจะทำอีก 2 ครั้งในวันพระของเดือนเมษายน โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 16 และ 23 เมษายน 2567
ประเพณีสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพต
งานประเพณีสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพต (ยอดภูเรือ) จัดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน 2567 (ช่วงเช้า) ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ อ.ภูเรือ จ.เลย โดยชาวชุมชน 5 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รายรอบ อช.ภูเรือ ได้แก่ บ้านภูเรือ บ้านป่าจันตม บ้านหนองเสือคราง บ้านไฮตาก อำเภอภูเรือ และบ้านน้ำมี อำเภอท่าลี่ จะตั้งขบวนแห่ขึ้นไปที่ยอดภูเรือ เพื่อกราบสักการะและสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพต องค์พระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญมาจากวัดพระญาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2520 แล้วนำมาประดิษฐานไว้บนยอดอุทยานแห่งชาติภูเรือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวภูเรือ
ในช่วงเช้าของวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะออกเดินทางกันตั้งแต่เช้าเพื่อขึ้นไปยัง อช.ภูเรือ และมีการตั้งขบวนแห่ต้นผึ้ง ต้นดอกไม้ และขบวนผีบุ้งเต้า เตรียมนำน้ำที่ปรุงแต่งให้เป็นน้ำอบน้ำหอมบรรจุใส่ในลูกน้ำเต้าเงินน้ำเต้าทอง ขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพตที่ประดิษฐานอยู่บนยอดภูเรือ
เมื่อกาลเวลาผ่านไปความเป็นอยู่ของชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์มาจากเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่บ้านไฮตาก ได้คิดประดิษฐ์ทำหน้ากากผีบุ้งเต้าขึ้น โดยนำผลน้ำเต้าลูกใหญ่ ๆ มาทำเป็นวัสดุและวาดลวดลายให้เป็นหน้ากาก “ผีบุ้งเต้า” ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปหน้ายักษ์ทวารบาลที่มีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม ถือว่าเป็นยักษ์ที่ใจดี และได้เริ่มแต่งกายและสวมใส่หน้ากากผีบุ้งเต้ามาเข้าร่วมขบวนแห่เพื่อเป็นการสร้างสีสันและความสนุกสนานในประเพณีสรงน้ำพระพุทธนาวาบรรพต ให้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา
ประเพณีแห่ขันดอกไม้
ประเพณีแห่ขันดอกไม้บูชาพระธาตุศรีสองรัก จัดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน 2567 (ช่วงบ่าย) ณ วัดพระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย (ผู้สนใจร่วมขบวนขอความร่วมมือแต่งกายสุภาพเสื้อขาว)
แห่ขันดอกไม้ เป็นประเพณีที่จัดขึ้น ตามแนวความเชื่อ “ฮีต 12 คอง 14” โดยชาวบ้านจะนำดอกไม้สีขาวใส่ในขันเงิน มาถวาย “องค์พระธาตุศรีสองรัก” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ประเพณีนี้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณโดยผู้นำทางด้านจิตวิญญาณอย่าง “เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม”
สำหรับกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาของ “ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ” ทั้ง 2 ท่าน มีดังนี้
ในรุ่งเช้าวันที่ 15 เจ้าแม่นางเทียมทำพิธีเลี้ยงเจ้าแม่กลาง เจ้าพ่อกวนไปทำพิธีประกอบกับเจ้าพ่อแสน ซึ่งเป็นงานของเจ้าแม่นางเทียม ดำเนินตามขั้นตอนเลี้ยงประจำปี เมื่อเจ้าเมืองกลางลงมา องค์นางท้าว นางจันทร์ นางจวด ลงมาทรงเจ้านางเทียมแล้วเลี้ยงตามพิธีประเพณี เสร็จแล้วเจ้าพ่อกวนก็ลากลับบ้าน
จากนั้นประมาณบ่าย 3 – 4 โมง เจ้าพ่อกวนตั้งขบวนจากบ้านเจ้าพ่อกวน แห่ดอกไม้ นิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ที่วัดโพนชัย ผ่านหน้าบ้านเจ้าแม่นางเทียม เจ้าแม่นางเทียมเข้าร่วมขบวนแห่รอบพระธาตุ แล้วทำพิธีถวายดอกไม้ ขึ้นปีใหม่ นิมนต์พระสงฆ์เทศน์มาลัยแสน แล้วเปิดพระธาตุทำบุญให้ทาน
ขณะที่ช่วงเย็นชาวบ้านจะรวมกันที่บ้านเจ้าพ่อกวน ส่วนชุมชนคุ้มบ้านเหนือและบ้านใต้มารวมที่บ้านเจ้าแม่นางเทียม ทำกระทงใหญ่ที่เตรียมอุปกรณ์ไว้ตั้งแต่วันที่ 14 หลังจากไปขะหิ้งบ้านเจ้าแม่นางเทียมแล้ว ก็ทำกระทงบ้านที่บ้านเจ้าพ่อกวน
เสร็จแล้วประมาณ 17 – 18 นาฬิกา ไปแห่ดอกไม้ทำพิธีที่วัดโพนชัย ไปปักธง ไหว้พระ รับศีล ทำพิธีชักธงขึ้นวัดโพนชัย พร้อมทั้งบ้านเจ้าพ่อกวน – เจ้าแม่นางเทียม หรือหลาย ๆ บ้าน พอเสร็จแล้วทางบ้านเจ้าพ่อกวนจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 70 ปีขั้นไป สู่ขวัญก็รดน้ำขอพรจากผู้อาวุโส แล้วจึงรับประทานอาหารเย็นข้าวตามกำลังความพร้อม
แห่ข้าวพันก้อน
ประเพณีแห่ข้าวพันก้อน บูชาพระธาตุศรีสองรัก จัดขึ้นในวันที่ 16 เมษายน 2567 (ช่วงเช้าตรู่) ณ พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย
งานแห่ข้าวพันก้อน เป็นประเพณีเก่าแก่ของ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา กว่า 400 ปี จัดขึ้นในวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี โดยการนำของเจ้าพ่อกวน ดร.ถาวร เชื้อบุญมี เจ้าแม่นางเทียม ประกายมาศ เชื้อบุญมี ผู้นำทางวัฒนธรรม คณะพ่อแสน นางแต่ง และลูกผึ้งลูกเทียน
งานแห่ข้าวพันก้อนของ อ.ด่านซ้าย มีความพิเศษและแตกต่างตรงที่ จะนำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอดีคำ เรียกว่า “ข้าวพันก้อน” นำไปถวายแด่องค์พระธาตุศรีสองรัก บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองด่านซ้าย ในเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 16 เมษายน เพื่อความเป็นสิริมงคลนำความสุขสมบูรณ์อยู่ดีมีแฮงตลอดปีตลอดไป
ขบวนจะเริ่มตั้งจากบ้านเจ้าพ่อกวน ไปยังบ้านเจ้าแม่นางเทียม และมุ่งหน้าสู่พระธาตุศรีสองรักโดยใช้เส้นทางโบราณในประวัติศาสตร์ เมื่อมาถึงองค์พระธาตุ เจ้าพ่อกวนจะเป็นผู้นำในการทำพิธีบูชาคารวะองค์พระธาตุ จากนั้นผู้ชายจะนำข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอดีคำวางถวายด้านในองค์พระธาตุ ส่วนผู้หญิงจะวางรอบ ๆ กำแพงขององค์พระธาตุ
การจัดงานประเพณีแห่ข้าวพันก้อนถวายแด่องค์พระธาตุศรีสองรักนี้ ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ งดงาม และถือปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายร้อยปี นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนผ่านกิจกรรมประเพณีของชุมชน และเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัวตลอดทั้งปี
#################################################
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812