พาไปรู้จักกับชาว “มานิ” คนอยู่ป่าตัวจริงแห่งเทือกเขาบรรทัด ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไรก็ดีปัจจุบันเนื่องจากป่าถูกทำลายและถูกจับจองมีเจ้าของทำให้วิถีของพวกเขาเปลี่ยนแปลง ต้องออกมาติดต่อกับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น
กว่า 2 สัปดาห์แล้วที่การปิดล้อมเขาบรรทัดเพื่อจับกุม “แป้ง นาโหนด” ยังคงคว้าน้ำเหลว จนเจ้าหน้าที่รัฐชุดจับกุมต้องเปลี่ยนแผนมาประจำและเฝ้ารอตามจุดและฐานต่าง ๆ แทน
ขณะที่ข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่นั้นเชื่อว่า แป้ง นาโหนด ได้หลบหนีลงจากป่าเขาบรรทัดมานานแล้วเช่นเดียวกับชาวเน็ตจำนวนมากต่างก็เชื่อว่าไอ้แป้งน่าจะหลบหนีไปไหนต่อไปแล้ว
นอกจากนี้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าถ้าไอ้แป้งกับพรรคพวกยังอยู่บนเขาบรรทัด น่าจะมีปัญหาเรื่องขาดเสบียง-อาหาร ดังที่เคยให้ลูกน้องลงมาเอาเสบียงแล้วถูกจับกุม เนื่องจากไอ้แป้งกับพรรคพวกแม้อาจจะมีผู้ชำนาญพื้นที่ป่านำทาง แต่ก็ไม่ใช่คนอยู่ป่าตามธรรมชาติ
ขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักก็พยามมโนจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อขายข่าว เลี้ยงกระแสไอ้แป้งไม่ต่างจากข่าวลุงพล
อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่านับแต่เกิดเหตุการณ์ไล่ล่าไอ้แป้ง ทำให้คนรู้จักและหันมาสนใจเรื่องราวของเขาบรรทัดกันมากยิ่งขึ้น
รู้จักเขาบรรทัด
“เขาบรรทัด” หรือ “เทือกเขาบรรทัด” เป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ แบ่งพื้นที่ระหว่างภาคใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และภาคใต้ฝั่งตะวันตก (อันดามัน) มีพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล
เขาบรรทัดเป็นป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีสภาพป่า 2 ลักษณะ คือ “ป่าดิบชื้น” และ “ป่าเขาหินปูน” อันเป็นป่าต้นน้ำสายสำคัญหลายสายที่ไหลลงสู่พื้นราบใน 2 ฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน
เทือกเขาบรรทัดปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด” ที่มีเนื้อที่ 791,847 ไร่ ซึ่งนอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแหล่งรวมของพืชพันธุ์และสัตว์ป่านานาชนิดแล้ว ในพื้นที่เขาบรรทัดยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกหลากหลาย อาทิ น้ำตกสายรุ้ง น้ำตกโตนเต๊ะ น้ำตกไพรสวรรค์ ในจังหวัดตรัง หรือ น้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกมโนราห์ น้ำตกหนานฟ้า น้ำตกน้ำปลิว ในจังหวัดพัทลุง น้ำตกวังสายทอง ในจังหวัดสตูล
เทือกเขาบรรทัดยังมี “ถ้ำภูผาเพชร”(อ.มะนัง จ.สตูล) อันยิ่งใหญ่อลังการเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ ถ้ำแห่งนี้ งดงามไปด้วยหินงอกหินย้อยตระการตา จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในถ้ำที่มีความสวยงามในอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
มานิ คนอยู่ป่าตัวจริงแห่งเทือกเขาบรรทัด
เทือกเขาบรรทัดยังมีสิ่งน่าสนใจยิ่งในด้านชาติพันธุ์คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาว “มานิ” ชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยของเผ่า “นิกริโต” (nigrito)
ชาวมานิอยู่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทยแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะเทือกเขาบรรทัดถือเป็นหนึ่งในถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของชาวมานิในบ้านเรา
เดิมคนไทยจำนวนมากนิยมเรียกชาวมานิว่า “เงาะป่า” และ “ซาไก” หรือเรียกรวมกันว่า “เงาะป่า-ซาไก” โดยคำว่า “ซาไก” เป็นภาษามลายูหมายถึง “ทาส” เป็นคำเรียกที่ไม่สุภาพและไม่ควรใช้ ส่วนคำว่า “มานิ” มีความหมายว่า “มนุษย์
นอกจากนี้มานิยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกตามพื้นที่ อย่างเช่น เซมัง คะนัง ขณะที่ในยะลาและนราธิวาส จะนิยมเรียกกันว่า “โอรังอัสลี” (Orang Asli) ที่หมายถึง “ชนพื้นเมืองดั้งเดิม”
มานิมีรูปร่างสันทัด สูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร ผิวดำคล้ำ ผมหยิกติดหนังศีรษะ ริมฝีปากหนา ฟันซี่โต จมูกแบนกว้าง ใบหูเล็ก ตะโพกแฟบ นิ้วมือนิ้วเท้าใหญ่ โดยผู้ชายจะมีขนาดร่างกายสูงใหญ่กว่าผู้หญิง
เดิมชาวมานิจะเปลือยอก ไม่สวมเสื้อ แต่ว่าปัจจุบันชาวมานิ ทั้งชาย-หญิง หลายคนจะสวมเสื้อผ้าเรียบง่ายตามสมัยนิยมแล้ว
ชาวมานิมีอุปนิสัยร่าเริง ชอบดนตรีและเสียงเพลง กลัวคนแปลกหน้า แต่เมื่อคุ้นเคยจะยิ้มง่ายและพูดคุยอย่างเปิดเผยจริงใจ ทำตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมที่สำคัญคือชาวมานิเกลียดการดูถูกเหยียบหยาม พวกเขามี “ภาษามานิ” ใช้สื่อสารพูดคุยกัน ซึ่งปัจจุบันมีมานิบางคนสามารถพูดภาษาใต้ใช้สื่อสารกับคนภายนอกได้
ชาวมานิเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 20-30 คน ไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่จะมีการอพยพโยกย้ายไปตามความสมบูรณ์ของอาหาร โดยพวกเขาจะเลือกสร้างที่อยู่อาศัยในทำเลที่มีลำธารหรือมีน้ำตกอยู่ไม่ไกล
สำหรับที่พักอาศัยที่ชาวมานิเรียกว่า “ฮายะ” (ภาษามานิ) หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ทับ” เป็นบ้านที่ใช้ใบไม้ที่หาได้ในป่า นำมาเรียงสุมกันเป็นหลังคา ไม่มีโครงสร้างแบบบ้านเรือนทั่วไป ส่วนที่นอนจะใช้ไม้ไผ่ปูเอียงแล้วนอนอยู่ใกล้ริมกองไฟ เพื่อสามารถทำได้ทั้งอาหาร ให้ความอบอุ่น และป้องกันจากสัตว์อย่าง แมลงหรือมด
ด้านอาหารการกิน ชาวมานิจะหาและกินอาหารที่ได้จากธรรมชาติในป่าเป็นหลัก พวกเขาจะหาเผือก หามัน มาเผากิน บ้างก็ล่าสัตว์ ลิง ค่าง กระรอก หมูป่า โดยใช้ลูกดอกอาบยาพิษจากธรรมชาติ
หากใครที่ออกไปหาอาหาร เมื่อได้อาหารหรือสัตว์ป่ามาแล้ว พวกเขาจะมีน้ำใจนำมาแบ่งปันให้กับคนในกลุ่มได้กินอย่างเท่า ๆ กัน โดยนำเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาต้ม ปิ้ง หรือย่าง ปรุงอาหารแบบง่าย ๆ ส่วนภาชนะที่ใช้ในการทำอาหารก็จะถูกดัดแปลงจากสิ่งของในป่า
แม้จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ในผืนป่า แต่มานิก็มีภูมิปัญญาอันน่าทึ่งในเรื่องของสมุนไพร ยารักษาโรคตามธรรมชาติ และมีวิธีรักษาโรคในแบบของพวกเขา จนชาวมานิได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าแห่งสมุนไพร”
วันนี้ชาวมานิได้นำสมุนไพรที่เก็บได้จากในป่ามาจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยนเป็นอาหาร ข้าวสาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากปัจจุบันชาวมานิบางส่วนยังคงมีสถานภาพแบบคนไร้รัฐ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่ได้รับการบริการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมด้วยช่วยกันช่วยเหลือชาวมานิ ทั้งในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ใครที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็พาไปหาหมอที่โรงพยาบาล เป็นต้น
สำหรับชาวมานิวันนี้แม้พวกเขาจะได้ชื่อว่าเป็นอยู่ป่าตัวจริงแห่งเทือกเขาบรรทัด และในผืนป่าอีกบางแห่ง แต่ด้วยความที่ป่าไม้เมืองไทยในวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นผืนป่าหวงห้ามของภาครัฐ ส่วนอีกส่วนหนึ่งถูกจับจองหักร้างถางพงทำเป็นพื้นที่การเกษตร รวมถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่เสื่อมโทรมลง ชาวมานิจึงอยู่อาศัยในป่ายากลำบากมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวมานิออกจากป่ามาสู่โลกภายนอก เพื่อติดต่อค้าขายหรือแลกเปลี่ยนกับคนภายนอกมากยิ่งขึ้น
เพราะวันนี้เมื่อวิถีโลกเปลี่ยนไป วิถีของชาวมานิก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน