จังหวัดพังงาชวนเที่ยวชมความงามของ “พลับพลึงธาร” พืชหายากหนึ่งในเดียวในโลก ที่ช่วงนี้กำลังออกดอกชูช่อบานสะพรั่งที่ “สวนตาเลื่อน” อ.คุระบุรี พร้อมชวนร่วมกันอนุรักษ์หวั่นสูญพันธุ์
มูลนิธิอีสต์ฟอรั่ม ร่วมกับ กองทุนสิ่งแวดล้อม และเครือข่าย จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์พลับพลึงธาร ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ จุดชมพลับพลึงธารสวนตาเลื่อน บ้านบางซอย ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงาโดยมีนายวิชญุตม์ ทองแป้น นายอำเภอคุระบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ตาเลื่อน มีแสง ตัวแทนจากหลายหน่วยงาน พร้อมด้วยคณะครู-นักเรียน และชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ภายในงาน มีกิจกรรม ทัวร์ชมดอกพลับพลึงธารที่กำลังชูช่อดอกบานสะพรั่งในลำคลอง ร่วมเรียนรู้การเพาะปลูกพลับพลึงธาร การหว่านเมล็ดปลูกพลับพลึงธาร การเสวนาเรื่องการร่วมอนุรักษ์พลับพลึงธาร ชมนิทรรศการจากองค์กรภาคีเครือข่าย การมอบรางวัลการประกวดวาดภาพดอกพลับพลึงธาร การวาดภาพระบายสีบนกระเป๋าผ้า ร่วมชิมอาหารพื้นเมือง สินค้าโอทอป และดนตรีโฟล์คซอง
ทั้งนี้ นายวิชญุตม์ ทองแป้น ได้กล่าวเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมความงามของพลับพลึงธาร โดยเฉพาะในอำเภอคุระบุรีในช่วงนี้กำลังออกดอกชูช่อบานสะพรั่งตามลำคลองต่าง ๆ ซึ่งนอกจากสวนตาเลื่อนแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวชมได้ในหลายจุดด้วยกัน
นางสาวศจี กองสุวรรณ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบนิเวศเชิงเกษตรถิ่นที่อยู่อาศัยพลับพลึงธาร มูลนิธิอีสต์ ฟอรั่ม เปิดเผยว่า ดอกพลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ จะขึ้นอยู่ทั่วไปในลำธารใสไหลเย็นเฉพาะในอำเภอกะเปอร์ สุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง จังหวัดพังงา คนท้องถิ่นเรียก “หญ้าช้อง” “ช้องนางคลี่” “หอมน้ำ” ปี 2514 นักวิทยาศาสตร์เยอรมันชื่อ โจอาซิม ชูลซ์ เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ว่า Crinum thaiunum หลังจากเข้ามาสำรวจและเก็บตัวอย่างที่จังหวัดพังงาและตีพิมพ์เผยแพร่ ปัจจุบันนิยมเรียกว่าพลับพลึงธาร เนื่องจากมีดอกคล้ายพลับพลึงแต่ขึ้นอยู่ในน้ำ
นางสาวศจี กล่าวต่อว่า ความสวยงามของดอกพลับพลึงธารได้รับการเล่าขานจนเกิดกิจกรรมล่องแพแลพลับพลึงธารในคลองนาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง นำมาซึ่งความปีติยินดีของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น แต่อนิจจาความงามของพลับพลึงธารทำให้มีการขุดหัวไปขายต่างประเทศ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ขุดลอกคลองทำให้เกิดการกัดเซาะคลองแหล่งที่อยู่อาศัยรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเข้มข้น ทำให้ปริมาณพลับพลึงธารลดลงไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2554 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดสถานภาพพลับพลึงธารใกล้สูญพันธ์ (Endangered) ใน Thailand Red List (Plant) กล่าวคือหากไม่ทำอะไรเลยเลยพลับพลึงธารอาจสูญพันธุ์ภายใน 20 ปี
“ทางกองทุนสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มูลนิธิอีสต์ ฟอรั่มร่วมกับองค์กรเครือข่าย ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์พลับพลึงธาร” ซึ่งได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูพลับพลึงธารฯ ระหว่างปี 2560-ถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากเผยแพร่สื่อรณรงค์สร้างความตระหนักและฝึกอบรมปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่คนในท้องถิ่น การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัยพลับพลึงธาร การปลูกฟื้นฟูและปรับปรุงระบบนิเวศของถิ่นที่อยู่อาศัยพลับพลึงธาร จนได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนประชากรพลับพลึงธารและปรับปรุงระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัย ระหว่างปี 2560-ปัจจุบัน จำนวนประมาณ 50,000 ต้น มีอัตราการรอดในปี 2565 ประมาณ 60-90%
“นอกจากนี้ยังได้ชุดความรู้การฟื้นฟูพลับพลึงธารในถิ่นที่อยู่อาศัยสภาพธรรมชาติอย่างเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมวันนี้ถึงแม้พลับพลึงธารจะยังไม่ฟื้นฟูจนมีความอุดมสมบูรณ์เท่าเดิม แต่การทำงานที่เข้มแข็งของเครือข่ายบวกกับชุดประสบการณ์ในการปลูกฟื้นฟู ทำให้เชื่อว่าพลับพลึงธารจะไม่สูญพันธุ์และวันหนึ่งข้างหน้าจะสามารถฟื้นฟูจำนวนประชากรให้พลับพลึงธารกลับมาเบ่งบานคลองเล็กคลองน้อยในระนองและพังงาได้อีกครั้ง จึงอยากให้ทุกคนมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต” นางสาวศจีกล่าว
“พลับพลึงธาร” (Crinum thaianum J. Schulze.) เป็นพืชน้ำอยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) มีชื่อเรียกของแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ หญ้าช้อง หอมน้ำ (ระนอง) และช้องนางคลี่ (บ้านนางย่อน) พลับพลึงธาร เป็นพืชเฉพาะถิ่นแห่งเดียวในโลก พบในบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทย โดยพบมากที่ ระนองตอนล่าง และพังงาตอนบน (มีบางข้อมูลรายงานว่ามีการพบพลับพลึงธารอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาด้วย)
พลับพลึงธารเป็นพืชอวบน้ำ ในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากจะมีการผสมเกสร โดยในแต่ละผลจะมีเมล็ดข้างใน 3-4 เมล็ด และจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงปลายฤดูฝน หรือต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี ดอกพลับพลึงธาร เป็นดอกไม้ประจำท้องถิ่น
พลับพลึงธารได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ” เนื่องจากเป็นน้ำที่มีดอกชูช่อสวยงาม มีสีขาวเนียนคล้ายดอกพลับพลึง แต่อยู่ในน้ำ
ดอกพลับพลึงธารจะบานปีละครั้งในช่วงฤดูหนาวราว 3 เดือน พร้อมส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงถูกเรียกว่า “หอมน้ำ” ลักษณะของดอกพลับพลึงธาร จะเป็นดอกตูมสีขาว มี 6 กลีบ ในก้านชูดอกหนึ่ง ๆ มีหลายก้านดอก จะทยอยบานติดต่อกันไป
ขณะที่ใบของพลับพลึงธารนั้นจะเป็นกลุ่มแถบยาวเป็นริ้วพริ้วไหวไปตามการไหลของสายน้ำ ยามสะท้อนแสงแดดดูเป็นเส้นสายส่ายไหวพริ้วดูสวยงามไม่น้อย
พลับพลึงธารถูกขึ้นบัญชีให้เป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี 2554 โดยพลับพลึงธาร ถือว่าหนึ่งในพืชดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำลำคลองดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์พลับพลึงธารไว้ให้อยู่คู่เมืองไทยไปตราบนานเท่านาน
###########################
หมายเหตุ : ภาพโดย : อโนทัย งานดี