xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักประวัติความเป็นมา และความหมายของ “ขนมไหว้พระจันทร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันไหว้พระจันทร์” เทศกาลตามวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว ตรงกับคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566

สำหรับเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง จัดกิจกรรมต่างๆอย่างคึกคัก และแน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล คือ “ขนมไหว้พระจันทร์”

ชวนมาทำความรู้จักของขนมชนิดนี้กันให้มากขึ้น


ขนมไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “เย่วปิ่ง” เย่ว์ หมายถึง พระจันทร์ ปิ่งหมายถึง ของกินทรงแบนในรูปแบบปิ้ง ย่าง เผา อบ

ปิ่งของจีนทํามาจากส่วนผสมหลากหลายชนิด ส่วนมากทํามาจากข้าว มีทั้งใส่ไส้ และไม่ใส่ไส้ ขนมไหว้พระจันทร์มีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายกับดวงจันทร์ จึงเรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง”

มีตำนานเล่าว่า เดิมทีขนมไหว้พระจันทร์ มีชื่อเรียกว่า “หูปิ่ง” หมายถึง ขนมเปี๊ยะวอลนัต เป็นขนมอบของจีนทําจากงาและวอลนัต สาเหตุของการเปลี่ยนชื่อมีเรื่องเล่าว่า ในคืนวันไหว้พระจันทร์ปีหนึ่ง จักรพรรดิถังเสวียนจงปรารภออกมาว่า ชื่อ “หูปิ่ง” ไม่ไพเราะ ขณะนั้นหยางกุ้ยเฟย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อัครมเหสีของพระองค์ ได้นั่งชมจันทร์อยู่เคียงข้างพระองค์ ก็เปรยขึ้นมาว่า “เย่ว์ปิ่ง” ที่แปลว่า ขนมเปี๊ยะพระจันทร์ ตั้งแต่นั้นมาจึงใช้ชื่อนี้เรียกแทน “หูปิ่ง"


ขนมไหว้พระจันทร์ปรากฏเป็นบันทึกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณของราชวงศ์จีน ปรากฏครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น พจนานุกรมประเพณีจีนเล่มหนึ่งบันทึกว่า แม่ทัพหลี่จิ้ง ชนะศึกสงครามกลับมาเฝ้าพระถังเกาจู่ในท้องพระโรงยามราตรีคืนเพ็ญ มีพ่อค้าชาวทิเบตนําขนมปิ่งมีลักษณะลวดลายสวยงามมาถวาย พระองค์ทรงโสมนัส และทรงแบ่งขนมนั้นพระราชทานแก่ขุนนางทุกคน จึงเกิดประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในคืนเพ็ญเดือนแปดตั้งแต่นั้นมา


ในสมัยราชวงศ์ถัง พระเจ้าถังซีจงเสวย เย่ว์ปิ่ง (ขนมไหว้พระจันทร์) ในวันเทศกาลจงชิว (เทศกาลไหว้พระจันทร์) พระองค์ทรงชื่นชอบในรสชาติของขนมไหว้พระจันทร์เป็นอย่างมาก จึงพระราชทานนําไปเลี้ยงบัณฑิตจิ้นสื้อ (เทียบเท่าปริญญาเอก) ที่กําลังมีงานเลี้ยงฉลองกัน

สมัยราชวงศ์หมิง มีบันทึกร่วมสมัยกล่าวว่า เย่ว์ปิ่ง เป็นของกินประจําเทศกาล ไหว้พระจันทร์ อีกทั้งยังมีบันทึกและบทกวีเกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์มากมาย และขนมชนิดนี้ก็มี หลายแบบหลายอย่างแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น


หนึ่งในบันทึกที่กล่าวถึงขนมไหว้พระจันทร์ ที่คนคุ้นเคยกันมากที่สุด สำหรับที่มาของการรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในคืนวันไหว้พระจันทร์ กล่าวคือ

สมัยปลายราชวงศ์หยวน มีตํานานเกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์ว่า มองโกลเข้ายึดครองแผ่นดินใหญ่และปกครองชาวจีนอย่างเข้มงวด มีการออกกฏว่าคนจีน 3 ครอบครัว จะต้องเลี้ยงดูคนมองโกลอย่างดี 1 คน มีคําสั่ง ไม่ให้มีอาวุธติดบ้าน แม้แต่มีดทําครัวก็ให้ใช้ร่วมกัน 3 ครอบครัวต่อหนึ่งเล่ม อีกทั้งยังมีทหารมองโกล เข้ามาควบคุม 10 ครอบครัวต่อหนึ่งคน ไม่ให้มีโอกาสทําอาวุธหรือชุมนุมปรึกษาหารือกันภายในได้

ชาวจีนเจ็บแค้นมากต่างคิดจะโค่นล้มมองโกล แต่ก็ไม่รู้ติดต่อกันได้อย่างไร ต่อมาในปีหนึ่งถึงวันใกล้เทศกาลไหว้พระจันทร์ จางสื้อเฉิงผู้นําในการต่อต้านมองโกลคนหนึ่งได้คิดจัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ขึ้น จึงมีการทําขนมไหว้พระจันทร์ที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ซ่อนเอกสารในการติดต่อกัน ภายในสารระบุไว้ว่าเที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือนแปด ซึ่งเป็นคืนที่กําหนดให้มีงานไหว้พระจันทร์นัดหมายให้ทุกครอบครัวลงมือพร้อมกันฆ่าผู้คุมชาวมองโกล แล้วให้ธรรมเนียมแลกเปลี่ยนแลกขนมเปี๊ยะกันระหว่างญาติมิตรเป็นการตบตาพวกมองโกลได้อย่างแนบเนียน จนถึงคืนวันนั้นหลังจากทุกคนรับประทานขนมไหว้พระจันทร์เสร็จแล้ว ทุกครอบครัวคว้าอาวุธเท่าที่เตรียมหาไว้ได้ จับผู้คุมชาวมองโกลจากนั้นจึงโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สําเร็จ


นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่อง ฉางอี้ หรือฉางเอ๋อ ภรรยาของขุนนางจีน เกิดไปกินยาวิเศษที่กินเข้าไปแล้วสามารถเหาะขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ได้ แถมยังได้ดื่มน้ำอมฤตจากนางฟ้าบนสวรรค์จนเป็นอมตะ กลายเป็นเทพธิดาอยู่บนดวงจันทร์ เป็นผู้ให้น้ำฝนแก่ชาวไร่ชาวนาเพื่อเพาะปลูก ชาวจีนจึงทำเพื่อบูชานางในคืนวันเพ็ญเดือน 8 เป็นการตอบแทน


ความหมายอันเป็นมงคลของไส้ต่างๆในขนมไหว้พระจันทร์

ไส้ไข่แดงเค็ม
เป็นไส้มาตรฐานสำหรับขนมไหว้พระจันทร์ การมีไข่แดงเค็มกลมๆอยู่ข้างใน สื่อความหมายถึงพระจันทร์ ที่เปรียบกับความสุกสว่างในคืนวันไหว้พระจันทร์ แทนความหมายของชีวิตที่ส่องสว่างเสมือนพระจันทร์ยามราตรี

ไส้เม็ดบัว
เป็นอีกไส้ดั้งเดิมของขนมไหว้พระจันทร์ เม็ดบัวเป็นพืชที่ขาวสะอาด จึงเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่บริสุทธิ์ สื่อถึงการมีอายุยืนยาว มีเกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข ไส้เม็ดบัวจึงเป็นที่นิยมสำหรับการนำไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่

ไส้ธัญพืช
ประกอบไปด้วยถั่วชนิดต่างๆ รวม 5 ชนิดผสมกัน ได้แก่ ถั่วแดง งาขาว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดแตงโม และอัลมอนด์ ดังนั้น สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ แทนความหมายเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ มีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ และความอุดมสมบูรณ์

ไส้เกาลัด
เกาลัดเป็นอาหารที่คนจีนนิยมกินมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังถือเป็นของมงคล หมายถึง ลูกชาย และสิ่งอันเป็นที่รัก ชาวจีนปลูกเกาลัดไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และนำไปใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อ ไส้เกาลัดจึงสื่อแทนการเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้คนที่รัก นอกจากนี้ สรรพคุณของเกาลัดยังมีส่วนช่วยบํารุงไต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลําไส้และ กระเพาะอาหาร

ไส้ลูกพลัม
ลูกพลัมเป็นพืชที่เติบโตได้ดีแม้อยู่ในฤดูหนาว ดังนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความมานะอุตสาหะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และความหวัง เปรียบเหมือนกับดอกพลัมที่ชูช่อในฤดูหนาว อีกทั้งยังหมายถึง มีเริ่มต้นที่ดี
ตามปฏิทินจันทรคติ


ไส้ถั่วแดง
สรรพคุณของถั่วแดง เป็นธัญพืชที่มีใยอาหารสูง เป็นแหล่งรวมของวิตามินบี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม แร่ธาตุต่างๆ และยังให้พลังงาน ถั่วแดง มีลักษณะรูปร่างคล้ายไต ซึ่งชาวจีนโบราณเชื่อว่าไต เป็นอวัยวะที่ผลิตความกลัวออกมา ดังนั้นการรับประทานถั่วแดงจะช่วยเพิ่มความกล้าหาญได้ เป็นไส้ที่สื่อถึงให้มีความกล้าหาญ

ไส้ทุเรียน
สีทองของทุเรียน สื่อถึงความฉลาดหลักแหลม ความเข้มแข็ง และความอุดมสมบูรณ์ มั่งมีเงินทอง

ไส้งาดำ
งาดำเป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย จึงสื่อถึงความมีอำนาจ และความสง่างาม

ไส้ชาเขียว
ชาเขียวเป็นไส้ใหม่ ที่เพิ่มมาตามยุคสมัย โดยสรรพคุณของชาเขียวมีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิด

ไส้คัสตาร์ด
เป็นอีกไส้ยอดนิยมที่เพิ่มใหม่ตามยุค คัสตาร์ดเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากไข่ ครีม และนม ถือว่ามีประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต จึงสื่อถึงการเจริญเติบโตและความอุดมสมบูรณ์

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น