แม้วันนี้ “ครูกายแก้ว” จะได้ชื่อว่าเป็นรูปเคารพสายมูที่มาแรงสุด ๆ ของบ้านเรา แต่กระนั้นก็ทำให้ชาวเน็ตเสียงแตก มีทั้งผู้ที่ “เชื่อ” และ “ไม่เชื่อ” ซึ่งแต่ละฝั่งต่างก็มีเหตุผลตามความคิดความเชื่อของตัว อย่างไรก็ดีงานนี้ได้ก่อให้เกิดเป็นดราม่าให้ชาวเน็ตได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนทัศนะในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวางอีกเรื่องหนึ่ง
รู้จักครูกายแก้ว
สำหรับประวัติความเป็นมาของครูกายแก้วโดยสรุปย่อ ๆ ระบุว่า ครูกายแก้วเป็นฤาษีที่มีตบะและวิชาอาคมแก่กล้าเมื่อราวพันปีที่แล้ว จนได้ชื่อว่าเป็น “บรมครูผู้เรืองเวทย์” ที่แม้สังขารกายหยาบจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่ พร้อมทั้งมีผู้สืบทอดวิชาเรื่อยมา
ต่อมาพระธุดงค์ไทยรูปหนึ่งที่เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่นครวัด นครธม ประเทศกัมพูชา ได้เรียนรู้วิชาอาคมของครูกายแก้ว เมื่อเดินทางกลับเมืองไทยได้นำรูปเคารพครูกายแก้วกลับมาให้กับลูกศิษย์คือ “จ่าสิบเอกถวิล มิลินทจินดา” หรือ “พ่อหวิน”
จากนั้นพ่อหวินได้มอบรูปเคารพครูกายแก้วต่อให้กับ “อาจารย์สุชาติ รัตนสุข” หรือ “พ่อสุชาติ” ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้สืบต่อวิชาแล้วยังเป็นผู้สร้างเทวรูปบูชาครูกายแก้วแห่งแรกในเมืองไทยด้วย (ประวัติครูกายแก้วอย่างละเอียดสามารถสืบค้นได้ในกูเกิ้ล)
สำหรับรูปลักษณ์ต้นตำรับดั้งเดิมของครูกายแก้วที่พระธุดงค์ไทยนำมาจากกัมพูชา มีลักษณะเป็นคนนั่งคู้เข่าองค์เล็ก ๆ (ศิลปะบายน) ขนาดหน้าตักประมาณ 2 นิ้ว ก่อนที่ต่อมาพ่อสุชาติจะนิมิตเห็นท่านแล้วสร้างรูปเคารพครูกายแก้วเป็นประติมากรรม (ต้นแบบ) ของผู้บำเพ็ญตน อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ มีหน้าตาขึงขันน่าเกรงขาม ด้านหลังมีปีก ดวงตาสีแดงกล่ำ ที่ปากมีเขี้ยวคล้ายนกการเวก ทำให้หลายคนเชื่อกันว่าครูกายแก้วเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนก ซึ่งภายหลังได้มีผู้นำรูปลักษณ์จากประติมากรรมต้นแบบ ไปสร้างเป็นรูปเคารพครูกายแก้วให้ผู้คนกราบสักการะกัน
ปัจจุบันครูกายแก้วถูกยกให้เป็น “อสูรเทพ” (อสูรที่ทำบุญด้วยโมหะ) หรือ “อสูรเทพแห่งโชคลาภ” ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่มากราบไหว้ขอพรครูกายแก้ว (หรือที่บางคนเรียกกันว่า “พ่อใหญ่”) จะช่วยให้ประสบความสำเร็จสมหวัง ร่ำรวยมีเงินทองไหลมาเทมา อีกทั้งยังเชื่อกันว่าหากใครบูชาจะช่วยให้การเจรจาค้าขายสำเร็จลุล่วง เนื่องจากรูปลักษณ์ครูกายแก้วมีลักษณะคล้ายนกการเวก สัตว์ในตำนานจากป่าหิมพานต์ที่มีซุ้มเสียงอันไพเราะ
นอกจากนี้ยังมีผู้เชื่อกันว่าครูกายแก้วคือ อาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทางเพจ Phimai National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ได้ออกมาให้ข้อเท็จจริงว่า สำหรับ “ครู” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามจารึกปราสาทตาพรหม กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ประดิษฐานรูปเหมือนของครู 2 คน คือ “ศรีชยมังคลารถเทวะ” และ “ศรีชยกีรติเทวะ”
ครูกายแก้วยิ่งดัง ยิ่งดราม่า
ความเคารพศรัทธาที่คนกลุ่มหนึ่งมีต่อครูกายแก้วนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีผู้นับถือกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งนับวันก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสถานที่สักการะครูกายแก้วที่เด่น ๆ นั้น ก็อย่างเช่น เทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ จ.นนทบุรี, เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง กทม., ศาลพระพิฆเนศ อาเขต จ.เชียงใหม่ รวมถึงในบางวัด เป็นต้น
และล่าสุดได้มีการสร้าง “ศาลครูกายแก้วองค์ใหญ่” ขึ้นที่ บริเวณลานโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก รัชดาภิเษก ซึ่งได้มีการทำพิธีบวงสรวงไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา
ขณะที่ก่อนหน้านั้นในวันที่ 9 ส.ค. 66 ในการขนย้ายรูปเคารพครูกายแก้วองค์ใหญ่ (สูง 4 เมตร กว้าง 3.50 เมตร ขนาดหน้าตัก 108 นิ้ว) เพื่อมาติดตั้ง ได้เกิดไวรัลครูกายแก้วขึ้นเมื่อรูปปั้นไปติดคานสะพาน ทำให้รถติดยาวเหยียด จากรัชดาไปถึงสะพานพระราม ซึ่งไม่ว่านี่จะเป็นเหตุสุดวิสัย เหตุบังเอิญ หรือจงใจ (การตลาด) แต่งานนี้ถือว่าประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างสูง เพราะทำให้ชื่อเสียงครูกายแก้วโด่งดังขจรไกลกลายเป็นที่รู้จักของคนไทยส่วนใหญ่ (ผ่านสื่อ) เพียงชั่วข้ามคืน
เมื่อดังเร็ว ดังแรง และดังในด้านลบ กระแสดราม่าก็มาเร็วและแรงเช่นกัน โดยงานนี้ชาวเน็ตไทยเสียงแตก มีทั้งฝั่งผู้ที่ “เชื่อ-เคารพศรัทธา”
และฝั่ง “ไม่เชื่อ-ไม่นับถือ” ซึ่งแต่ละฝั่งต่างก็มีเหตุผลตามความคิดความเชื่อของตัว
โดยทางฝั่งของกลุ่มคนที่เชื่อนั้นหลาย ๆ คนอาจเคยสำเร็จสมหวังจากการขอพรครูกายแล้วมาแล้ว หรือบางคนต้องการที่พึ่งทางใจเพิ่ม หรือบางคนเมื่อมีสิ่งมูใหม่ ๆ ก็จะตามไปขอเลขขอพรกันเป็นปกติอยู่แล้ว หรือ ฯลฯ
ขณะที่กลุ่มคนฝั่งไม่เชื่อมองว่านี่เป็นเรื่องงมงาย เป็นการเคารพกราบไหว้ภูติผีปีศาจ ซาตาน เคารพบูชาในด้านมืด ฯลฯ ยิ่งด้วยรูปลักษณ์ของครูกายแก้วที่ดูดุดันน่าสะพรึง ก็ทำให้เกิดการปั่นว่าครูกายแก้วมาจาก “การ์กอยส์” สัตว์ผสมที่เป็นมารกึ่งอมนุษย์ - มังกร ตามความเชื่อของชาวยุโรป เนื่องจากทั้งสองต่างมีลักษณะที่คล้ายกัน (อย่างไรก็ดีหากดูจากประวัติความเป็นมาของครูกายแก้วแล้วจะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับการ์กอยส์แต่อย่างใด)
เที่ยวไทย สายมู สร้างรายได้นับหมื่นล้าน
แม้ครูกายแก้วจะทำให้ชาวเน็ตเสียงแตก เกิดเป็นดราม่าและกระแสต่อต้านอย่างหนัก แต่ทางเพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย (ที่เป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทย) กลับมองว่านี่นอกจากจะเป็น Soft Power แล้ว ยังเป็นหนึ่งใน “แหล่งรายได้อันมหาศาล” ของประเทศ โดยบทความ ...“มูเตลู” รู้ไหมสร้างรายได้เป็นหมื่นล้าน...ของเพจดังกล่าว ระบุว่า
เมืองไทยเป็นแหล่งสายมู ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น พระพรหมเอราวัณ พระตรีมูรติที่เซ็นทรัลเวิลด์ พระพิฆเนศห้วยขวาง หลวงพ่อทันใจที่เชียงใหม่ ไอ้ไข่ที่นครศรีธรรมราช หรือวังพญานาคคำชะโนดที่อุดรธานี เป็นต้น
ขณะที่ธุรกิจสายมู อย่างพระเครื่องนั้น ในปี 2550 มีมูลค่าสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีธุรกิจสายมูที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในระดับ ร้อยล้าน พันล้านอีก อย่างเช่น “ไลลา” เครื่องประดับสายมู, “ตลาดเบอร์มงคล” และ “วงการหมอดู” เป็นต้น
อย่างไรก็ดีแม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นเรื่องมูเตลู แต่ที่ผ่านมา เรายังไม่ได้ขายการท่องเที่ยวในมิตินี้จากชาวต่างชาติเท่ากับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ดังนั้นหากเราจะมองข้ามเรื่องความงมงายไป แล้วร่วมกันผลักดันให้มูเตลูกลายเป็นการท่องเที่ยวอีกมิติหนึ่งควบคู่กับไปการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็น Soft Power ที่จะทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศเราเพิ่มมากขึ้น นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศเลยทีเดียว...(อ้างอิงจากเพจ CARE คิดเคลื่อนไทย)
สำหรับกระแสดราม่าครูกายแก้วที่หนักหน่วงในช่วงนี้นั้น ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะ “เชื่อ” และ “ไม่เชื่อ” ในการเคารพ บูชา กราบไหว้ สิ่งต่าง ๆ โดยที่ไม่ไปละเมิดรุกล้ำระรานสิทธิ์ทางความคิดความเชื่อของคนอื่น และต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม หรือหลอกลวงบิดเบือนข้อเท็จจริง
ส่วนใครที่หวังเล่นกับกระแสความเชื่อ นำความเชื่อมาบิดเบือนปั่นกระแสจนสังคมวุ่นวาย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ไม่ควรปล่อยผ่านด้วยประการทั้งปวง