สีสันของดอกไม้นานาชนิดในกระทงขนาดเหมาะมือ ผู้คนในชุดผ้าซิ่นสวยงามปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้า ยืนต่อแถวเรียงรายเพื่อรอนำดอกไม้ใส่บาตรพระสงฆ์ เป็นบรรยากาศงานบุญประเพณีที่หาชมได้ยาก มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย เรียกว่า ประเพณี “ยายดอกไม้” ของชาวลาวเวียง จังหวัดสิงห์บุรี
“ประเพณียายดอกไม้” หรือ ตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวเวียงจันทน์ประเทศลาว หรือไทยเวียง คล้ายการใส่บาตรดอกไม้ ตอนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวชุมชนบ้านแป้งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในละแวกนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ และได้ถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน
คำว่า “ยายดอกไม้” นั้น ไม่ได้หมายถึงคุณยายที่ไหน หากแต่เป็นสำเนียงที่เพี้ยนมาจากคำว่า “หย่าย" ซึ่งเป็นภาษาลาว แปลว่าการแจกจ่ายหรือการให้ ดังนั้นคำว่า “ยายดอกไม้” จึงหมายถึง การให้หรือการถวายดอกไม้แด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชานั่นเอง
ประเพณีงดงามนี้ จัดขึ้นที่วัดจินดามณี ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี นับเป็นประเพณีของชาวลาวเวียงจันทน์ ที่เรียกว่าลาวเวียง ผู้มาตั้งรากฐานที่นี่โดยการเทียบเกวียนมาสยามประเทศ และถือประเพณีตักบาตรดอกไม้มาถือปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา
ในสมัยก่อนดอกไม้ยังเป็นสิ่งหายาก ชาวบ้านจึงต้องเอาดอกข้าวโพดที่หาได้ง่าย รวมทั้งข้าวตอก แล้วเหลาไม้เสียบ และกำดอกไม้มารวมกัน เมื่อถึงเวลาเย็นวัดจะตีกลองแฉะเป็นสัญญาณแจ้งว่าว่าจะเริ่มพิธีแล้ว บรรดาหนุ่มๆสาวๆต่างกำดอกไม้มาใส่บาตร เป็นช่วงเวลาที่ถือโอกาสได้พูดคุยกันจีบกันแบบคนสมัยก่อน บ้างก็มีดอกบัวพับ พร้อมธูปเทียนมาใส่บาตรพระ สำหรับดอกไม้ที่นิยมนำมาใช้ มีหลากหลายทั้งดอกรัก ดอกลีลาวดี ดอกกุหลาบ ดอกพุทธ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกมะลิ และข้าวตอก โดยเมื่อพระสงฆ์รับบิณฑบาตรดอกไม้แล้ว ก็จะได้ไปบูชาพระประธานในบริเวณอุโบสถ ก่อนนำไปทำมวลสารเป็นพระเครื่องต่อไป
ทั้งนี้ในสมัยก่อนมีวัดที่เป็นชุมชนลาวเวียงจัดงาน 3 แห่ง ได้แก่ วัดคู (คูค่ายพม่าเดิม) วัดจินดามณี และวัดกลาง แต่ภายหลังประเพณีก็ค่อยๆหายไป เหลือเพียงแต่วัดจินดามณีที่ยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นงานประจำปี โดยเมื่อ พ.ศ. 2555 ด้วยเจตนารมณ์การอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านและเป็นการสืบสานประเพณีให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักและร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป วัดจินดามณี โดยพระครูปริยัติกิจจานุกูล เจ้าอาวาสวัดจินดามณี จึงได้ร่วมกับประชาชนในตำบลบ้านแป้ง ทำการฟื้นฟูและจัดงานประเพณียายดอกไม้ จัดต่อเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปีนับจากนั้น (ยกเว้น ช่วงปี พ.ศ. 2562 - 2564 ที่ไม่มีการจัดงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด)
ปัจจุบัน ภายในวัดได้จัดเตรียมกระทงดอกไม้ที่เป็นมงคลมาให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้ร่วมทำบุญหรือจะนำมาเองก็ได้ และการเดินทางมาร่วมกิจกรรมก็ยังเจอชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ที่ยังคงพูดภาษาลาวเวียงได้อยู่บ้าง
นอกจากการตักบาตรดอกไม้แล้ว วันงานประเพณีใหญ่ของชุมชน ยังมีซุ้มอาหารและกิจกรรมต่างๆให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิม-ชม ฟรี อาทิ อาหารคาว-หวาน หากินได้ยาก เช่น บัวลอยญวน ยำญวน ลาบมะเขือ ขนมเบื้องญวน ทำข้าวตอก การกวนกระยาสารท จัดแสดงอุปกรณ์ทำทอง (เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีอาชีพทำทอง) เป็นต้น
ประเพณียายดอกไม้ เป็นประเพณีที่หลายคนยังไม่คุ้นชื่อนัก แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีของพื้นที่ภาคกลางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะหาชมได้ยาก ผู้มาเยือนจะได้เห็นภาพของความหลากหลายในมรดกวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนไทยที่สืบสานรักษาไว้จวบจนถึงทุกวันนี้
#######################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline