จังหวัดน่าน มีวัดวาอารามสำคัญที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ แต่ก็มีวัดขนาดเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆที่หลายคนยังไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งก็มีเอกลักษณ์ของวิถีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เฉกเช่นที่ “วัดไหล่น่าน” ที่อยู่ในอำเภอเวียงสา
“วัดไหล่น่าน” เป็นวัดขนาดเล็กในหมู่บ้านไหล่น่าน อำเภอเวียงสา เดิมชื่อ วัดหล่ายน่าน มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 ติดกับแม่น้ำน่าน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ที่ตั้งห่างจากตัวอำเภอเวียงสา ออกมาประมาณ 1 กิโลเมตร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2457
สำหรับประวัติการเริ่มสร้างวัด “พระสุรินทร์” ซึ่งเป็นพระภิกษุจากวัดบุญยืน (พระอารามหลวง วัดประจำอำเภอเวียงสา) ได้รับอาราธนานิมนต์มารับบิณฑบาต ฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกของวัดบุญยืน ซึ่งในขณะนั้น มีชาวบ้านได้มาอยู่อาศัยอยู่ ประมาณ 30 หลังคาเรือน พระสุรินทร์ พร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างศาลาขึ้นหนึ่งหลัง เพื่อเป็นพระอารามของสงฆ์ และเพื่อความสะดวกในการทำบุญ
เริ่มแรกในครั้งนั้นใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ จากนั้นได้ตั้งเป็นวัดขึ้น โดยมีชื่อเรียกว่า “วัดหล่ายน่าน” ภายหลังทางราชการเรียกว่า “วัดไหล่น่าน” เมื่อเวลาต่อมาพระสุรินทร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส มีนามว่า พระอธิการสุรินทร์ ได้อยู่โปรดญาติโยม ประมาณ 10 ปี ก็มรณภาพลง ต่อมามีพระศรีวิชัย เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในปี พ.ศ.2421 พระศรีวิชัย พร้อมด้วยคณะศรัทธามีความเห็นว่า สถานที่ตั้งวัดในปัจจุบันนั้น ถูกแม่น้ำน่านกัดเซาะจนตลิ่งพัง เกรงว่าการตั้งวัดต่อไปภายหน้าจะไม่มั่นคง จึงได้ย้ายวัดจากทางตอนใต้ มาตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน
สำหรับคำว่า "ไหล่น่าน" หมายถึง ตรงข้าม อันสื่อถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่อีกฟากด้านหนึ่งของแม่น้ำน่าน โดยมีชาวบ้านหมู่บ้านบุญยืน ข้ามมาทำสวน ทำนา ฟากแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก เพราะพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ และได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นมา ชื่อว่า "บ้านหล่ายน่าน" และได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็น "บ้านไหล่น่าน" และวัดก็เปลี่ยนชื่อเรียกตามไปด้วย
ภายในพระอุโบสถของวัด มี “พระพุทธศรีวิชัยมุนี” เป็นพระประธาน สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2428 และมีจิตรกรรมฝาผนังที่วาดใหม่ เป็นพุทธประวัติสวยงามร่วมสมัย
ปัจจุบัน วัดไหล่น่าน เป็นวัดขนาดเล็ก แต่ก็มีจัดกิจกรรมที่สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้หลากหลาย อาทิ การเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลไหล่น่าน ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์เรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จัดงานประเพณีในเทศกาลสำคัญ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ วัดไหล่น่านได้กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี รวมถึงส่งเสริมการจัดงานประเพณีแข่งเรือประจำปีอันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมของจังหวัดน่าน
บริเวณตรงข้ามวัด ริมแม่น้ำน่าน ยังมี “กาดข่วงสะหลี” ซึ่งเป็นตลาดนัดชุมชนที่เปิดให้ชาวบ้านนำสินค้าท้องถิ่นมาขาย เช่น ผักปลอดสาร ผลไม้ตามฤดูกาล ข้าวหนมข้าวต้ม ฯลฯ ที่เน้นบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติอีกด้วย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline