ขอแสดงความเสียใจและขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ นาย “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ที่จากไปอย่างสงบด้วยวัย 58 ปี ในวันที่ 21 มิถุนายน ภายหลังเข้ารักษาอาการป่วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลศิริราช
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2508 เป็นคนอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรชายของนายประสาน และนางนวลจันทร์ โอสถธนากร
นายณรงค์ศักดิ์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2528 ปริญญาโทในสาขาวิชาภูมิมาตรศาสตร์และการสำรวจ (Geodetic Science and Surveying) จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต สหรัฐในปี พ.ศ. 2531
นอกจากนี้เขายังสำเร็จการศึกษาในสาขาอื่น ๆ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยได้รับประกาศนียบัตรกฎหมายการที่ดินและทรัพย์สินในปี พ.ศ. 2535 ปริญญาตรีในสาขาวิชานิติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2536 เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจในปี พ.ศ. 2545 และรัฐประศาสนศาสตร์ในปี พ.ศ. 2556
ในส่วนประวัติการทำงานนายณรงค์ศักดิ์ เข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ และที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจของกรมที่ดิน ยังเป็นประธาน กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิในหลายหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น
-พ.ศ. 2559 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
-พ.ศ. 2560 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
-พ.ศ. 2561 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา
-พ.ศ. 2562 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
-พ.ศ. 2564 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี-ปัจจุบัน
ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เชียงราย นายณรงค์ศักดิ์มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานการณ์ช่วยเหลือเด็กและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนที่ติดถ้ำหลวงรวมทั้งสิ้น 13 คน หรือ “13 หมูป่า” แห่งทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
เหตุการณ์ครั้งนั้นนายณรงค์ศักดิ์ในฐานะแม่ทัพปฏิบัติการถ้ำหลวง สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ในสภาวะวิกฤติได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากทั้งจากคนชาวไทยและชาวต่างชาติ
ภาพนายณรงค์ศักดิ์ยืนตากแดดตากฝน อดหลับอดนอน บัญชาการณ์ภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า อย่างไม่ย่นย่อท้อและมีความหวังตลอดเวลายังคงตราตรึงใจใครหลาย ๆ คนที่เฝ้าติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด
จากภารกิจช่วยชีวิตน้องทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้นายณรงค์ศักดิ์ได้รับฉายาว่า “ผู้ว่าฯหมูป่า” มาจนถึงทุกวันนี้
หลังภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่โด่งดังไปทั่วโลกสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นอกจากเรื่องราวของ 13 หมูป่า ผู้ว่าฯหมูป่า และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์แล้ว สถานที่จริงที่เกิดเหตุการณ์นี้คือ “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ก็ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ทองเที่ยวชื่อดังที่ไม่ควรพลาดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
“ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ตั้งอยู่ใน “อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ)” ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาเรียงติดต่อกันหลายลูก ดูคล้ายสตรีนอนเหยียดยาว อันเป็นที่มาของชื่อ “ดอยนางนอน” กับตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้
สำหรับถ้ำหลวง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินเป็นเวลานาน มีความยาว 10.3 กิโลเมตร มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่และลึกมากเป็นอันดับที่ 4 ของเมืองไทย
ถ้ำหลวงมีปากถ้ำเป็นโถงสูงกว้างอลังการ ภายในถ้ำมีเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอกหินย้อย ธารน้ำถ้ำลอด และถ้ำแขนง แนวโถงถ้ำมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเข้าถึงง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง รอยระดับน้ำหลุมยุบ โพรงเพดานถ้ำและรอยแตกของผนัง เป็นต้น
ปัจจุบันหลังเกิดเหตุการณ์ 13 หมูป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พัฒนาถ้ำหลวงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับสากล เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ด้วยความที่ถ้ำหลวงมีระบบนิเวศที่ค่อนข้างเปราะบางและเข้าชมยากลำบาก ที่ผ่านมาจึงได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วยตัวเองเฉพาะโถงถ้ำที่ 1 ระยะความลึกประมาณ 150 เมตร ซึ่งจุดนี้เคยเป็นโถงบัญชาการเหตุการณ์ช่วยทีมหมูป่าฯ โดยจำกัดจำนวนคนเข้าชมโถงถ้ำ รอบละ 25 คน/30 นาที วันละ 16 รอบ หรือ 400 คน/วัน
อย่างไรก็ดีเนื่องจากถ้ำหลวงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทางกรมอุทยานฯ จึงมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโถงถ้ำที่ 2 ได้ภายใต้เงื่อนไขต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์-ต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้เข้าไปได้วันละเพียง 4 กลุ่มๆละไม่เกิน 15 คน แต่ละกลุ่มเข้าไปอยู่ในถ้ำได้ 2 ชั่วโมง เมื่อคำนวณแล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปถึงโถงถ้ำที่ 2 ได้วันละประมาณ 60 คน
ส่วนโถงถ้ำที่ 3 จะอนุญาตให้กรณีเป็นนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้มีความรู้พื้นฐาน ฯลฯ ที่จะเข้าไปสำรวจทางวิชาการโดยต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้
บริเวณถ้ำหลวงยังมี “อนุสาวรีย์จ่าแซม” หรือนาวาตรี “สมาน กุนัน” ฮีโร่ถ้ำหลวง ผู้เสียชีวิตในภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่า เป็นรูปหล่อด้วยโลหะบรอนซ์ สูง 3.2 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร ส่วนด้านหลังอนุสาวรีย์จ่าแซมเป็นอาคารไม้ที่สร้างขึ้นเป็นศาลาอนุสรณ์สถาน ภายในศาลามีรูปวาด “The Heroes ภาพประวัติศาสตร์เพื่อให้โลกได้จดจำ มิตรภาพและความร่วมมือที่ไร้พรมแดน” ที่ศิลปินขัวศิลปะเชียงรายร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น
นอกจากนี้ก็ยังมี “ศาลเจ้าแม่นางนอน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่สถานที่ให้กราบไหว้ มี “ถ้ำพระ” ที่ภายในมีพระพุทธรูปให้สักการะบูชากัน
ขณะที่ “ขุนน้ำนางนอน” หรือ “สระขุนน้ำมรกต” ที่อยู่ห่างจากถ้ำหลวงไปประมาณ 2 กิโลเมตร ในช่วงปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 หมูป่า บริเวณนี้ได้ถูกขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้น้ำใต้ดินลดระดับลง เพื่อให้สำหรับปฏิบัติภารกิจ
หลังเสร็จสิ้นภารกิจบ่อที่ถูกขุดได้เกิดเป็นสระน้ำสีเขียวมรกตอันสวยงาม กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูดผู้คน ซึ่งปัจจุบันทางอุทยานฯ ได้ปรับแต่งภูมิทัศน์ ทำสะพาน ทางเดิน อย่างสอดรับกลมกลืนกับธรรมชาติ
สระขุนน้ำมรกตมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ มีลักษณะเป็นสระน้ำสีมรกตน้ำนิ่งสงบสวยงาม ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมของขุนเขาป่าไม้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวเช็กอินยอดฮิตภายในอุทยานฯแห่งนี้
สำหรับ อุทยานฯ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีกำหนดจัดกิจกรรม “รำลึก 5 ปี กู้ภัยถ้ำหลวง” ขึ้นในวันที่ 10 ก.ค. 66 นี้ ภายในงานจะมีการจัดพิธีบวงสรวงเจ้าแม่นางนอน ร่วมด้วย ทำบุญตักบาตร และรำลึกผู้จากไป ได้แก่ นาวาตรีสมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม” นายดวงเพชร พรหมเทพ หรือ “น้องดอม” 1 ใน 13 หมูป่า และผู้ล่วงลับล่าสุดคือ นาย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือ ผู้ว่าฯ หมูป่า ผู้ยังอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน