xs
xsm
sm
md
lg

พาไปเดินชิลๆ “สวนปทุมวนานุรักษ์” พื้นที่สีเขียว 27 ไร่ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจกลางกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สวนปทุมวนานุรักษ์ พื้นที่สีเขียว 27 ไร่ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจกลางกรุง
เปิดแล้ว!! “สวนปทุมวนานุรักษ์” สวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ บนเนื้อที่กว่า 27 ไร่ ที่เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังยืดเยื้อมานานหลายปีจากปัญหาบ้าน 3 หลัง ที่ไม่ยอมย้ายออกไป

“สวนปทุมวนานุรักษ์” ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครและมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์

บริเวณด้านหน้าทางเข้าสวนปทุมวนานุรักษ์
ภายในพื้นที่ 27 ไร่ ของสวนปทุมวนานุรักษ์ ประกอบด้วย สวนหย่อมออกแบบให้เป็นรูปเลข ๙ ไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สวนป่า บึงรับน้ำ ลานกิจกรรม พื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง และอาคารอเนกประสงค์ โดยภายใต้แนวความคิด “สวนเพื่อพ่อ” สวนเพื่อเผยแพร่หลักการทรงงาน งานโครงการในพระราชดำริ รวมถึงปรัชญาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ภายในมีการประดับด้วยต้นไม้หลากสีสันสวยงาม
โดยในช่วงแรกทางสวนจะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยกรุงเทพมหานครและมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์จากประชาชนทุกเพศทุกวัยผู้มาใช้บริการ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป

ภายในมีการประดับด้วยต้นไม้หลากสีสันสวยงาม
สำหรับประวัติความเป็นมาของสวนสาธารณะแห่งใหม่กลางกรุงล่าสุดนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเขตพระราชฐาน “พระราชวังปทุมวัน” พร้อมขุดสระใหญ่ ไขน้ำจากคลองแสนแสบ และสร้างพระอารามวัดปทุมวนารามและโรงเรียน

ภายในมีการประดับด้วยต้นไม้หลากสีสันสวยงาม
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่เพื่อสร้างวังสระปทุม สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอลุยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และวังเพ็ชรบูรณ์ สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

บรรยากาศภายในสวน
จากนั้น วังเพ็ชรบูรณ์ถูกโอนมาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ยังเป็นที่ประทับของ ม.จ.บุญจราธร จุฑาธุช พระชายาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ จวบสิ้นพระชนม์ และต่อมาที่ดินบางส่วนถูกเช่าเพื่อเป็นห้างสรรพสินค้า และบางส่วนเป็นชุมชนที่มีผู้อาศัยหลากหลาย

บริเวณเวทีริมน้ำ
ในปี พ.ศ.2538 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ของรัชกาลที่ ๙ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้จัดสรรที่ดินบริเวณวังเพ็ชรบูรณ์เดิม เพื่อพัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ โดยร่วมกับรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อดำเนินโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณข้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ศูนย์การค้าสยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ ติดถนนราชดำริ ซึ่งในขณะนั้นมีชุมชนแออัดอาศัยอยู่ จนกระทั่งมีการเจรจารื้อย้ายราษฎรจนได้รับพื้นที่คืนบางส่วน

บึงหน่วงน้ำ

บริเวณเวทีริมน้ำ
และในปี พ.ศ.2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “ปทุมวนานุรักษ์” และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ และบริหารจัดการสวนปทุมวนานุรักษ์ พร้อมทรงรับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์อยู่ในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นไม้ในสวนแห่งนี้

บึงหน่วงน้ำ

ทางเดินชมภายในสวน
ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับคืนพื้นที่จากชุมชนเพิ่มอีกราว 10 ไร่ และได้มอบพื้นที่ให้มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์เช่าใช้สร้างเป็นสวนปทุมวนานุรักษ์ส่วนเพิ่มเติม งานออกแบบสวนส่วนนี้ เริ่มในปีพ.ศ.2554 แต่ด้วยปัญหาเรื่องที่ดินและผู้บุกรุก จึงได้เริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ.2557 และก่อสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม 2558

แหล่งพักผ่อนกลางกรุง

บึงบำบัดน้ำด้วยพืชลอยน้ำ
สวนส่วนนี้มีแนวคิดการออกแบบเพื่อเผยแพร่หลักคำสอน งานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ในลักษณะพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง อาคารอเนกประสงค์ สนามและลานเพื่อการจัดกิจกรรมต่างๆ ผสมผสานกับการนำเสนอการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองและธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป สวนป่า และสวนนิทรรศการ แม้จะก่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังไม่อาจเปิดให้ประชาชนเข้าชมพื้นที่ได้ ด้วยยังติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวนโดยสะดวกและปลอดภัย และผู้บุกรุกที่ยังอยู่ในสวนไม่ยินยอมย้ายออก

บรรยากาศภายในสวน
ในปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ได้รับที่ดินเพิ่มเติมจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นที่ดินที่ต่อเนื่องติดกับถนนราชดำริ ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์เปิดทางเข้าออกที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการสร้างสะพานเดินเชื่อมย่านราชประสงค์ที่เปิดมุมมองให้เห็นสวนปทุมวนานุรักษ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อาคารอเนกประสงค์ (ยังไม่เปิดให้บริการ)
การออกแบบสวนในพื้นที่ใหม่ที่ได้รับเพิ่มเติมบนที่ดินประมาณ 8 ไร่ มีแนวความคิดต่อเนื่องกับพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง ออกแบบลานสนามหญ้าและทางเดินเพื่อรองรับกิจกรรมและการปลูกต้นไม้สำคัญ พร้อมบึงหน่วงน้ำกลางสวน ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่ซับน้ำให้กับเมือง สวนส่วนขยายนี้ก่อสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2561 แต่ด้วยเหตุผู้บุกรุกในสวนที่ไม่ยินยอมย้ายออก ทำให้ยังคงไม่สามารถเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ได้

อาคารอเนกประสงค์ (ยังไม่เปิดให้บริการ)

ลานและพื้นที่จัดแสดง
ช่วงปี พ.ศ.2563-2564 เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวงกว้าง สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงชะลอการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งโรคระบาดเริ่มเบาบางลง จึงมีการเจรจาร่วมกับการบังคับคดีอีกครั้ง ในที่สุดผู้บุกรุกที่ยังเหลือยินยอมย้ายออกจากพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ทั้งหมด เมื่อต้นปีพ.ศ.2566 ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์สามารถปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดให้บริการได้อย่างเรียบร้อยและปลอดภัย

ด้านหน้าทางเข้าสวนปทุมวนานุรักษ์
นอกจากนี้ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะได้ที่เต้นท์บริเวณสวนปทุมวนานุรักษ์ที่จัดเตรียมไว้ และผ่านช่องทางต่างๆ ของ กทม. หรือส่งมายังอีเมล info.pathumwananurakpark@gmail.com เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการและพัฒนางานส่วนที่เหลือสำหรับการเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างเป็นทางการต่อไป ไปร่วมออกความคิดเห็นและแนะนำกันได้

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น