xs
xsm
sm
md
lg

ไปเดินเล่นสวนปทุมวนานุรักษ์ ปอดแห่งใหม่ใจกลางราชประสงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

สิ้นสุดการรอคอย กับสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางกรุงฯ สวนปทุมวนานุรักษ์ เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.

เบื้องต้นได้เปิดให้บริการบริเวณพื้นที่สวนหย่อม (ส่วนที่ติดกับถนนราชดำริ) โดยมีทางเข้า 2 ทาง ได้แก่ ประตู 1 ถนนราชดำริ ใต้ทางเดินเท้า R Walk และประตู 2 ฝั่งศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (ตรงข้ามอาคารจอดรถ 3,000 คัน)

สวนดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกรุงเทพมหานคร


จุดเริ่มต้นของสวนแห่งนี้ มาจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จัดสรรที่ดิน 7 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ เมื่อปี 2538 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของในหลวง รัชกาลที่ ๙

สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตรงข้ามโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ลักษณะเป็นสวนป่า มีต้นไม้และบึงรับน้ำอยู่ด้านใน มีรั้วรอบขอบชิด ปล่อยให้ต้นไม้เติบโต ก่อนจะออกแบบทางเดินและอาคารในลำดับถัดไป

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
(ขณะนั้น) พระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “สวนปทุมวนานุรักษ์” นำสวนดังกล่าวอยู่ในพระราชูปถัมภ์ และเสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นไม้ในสวนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551

ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้รับคืนพื้นที่จากชุมชนเพิ่มอีกราว 10 ไร่ ได้มอบพื้นที่ให้มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์เช่าใช้ สร้างเป็นสวนปทุมวนานุรักษ์ ส่วนที่ 2 เริ่มก่อสร้างในปี 2557 แล้วเสร็จในปี 2558

กระทั่งในปี 2560 มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ได้รับที่ดินเพิ่มเติม จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ติดกับถนนราชดำริ ก่อสร้างลานสนามหญ้า ทางเดิน และบึงหน่วงน้ำกลางสวน แล้วเสร็จบางส่วนในปี 2561

ปัญหาก็คือ สวนแห่งนี้ไม่สามารถเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ เพราะมีบ้าน 3 หลังไม่ยอมย้ายออก อ้างว่าไม่มีที่ไป ใช้เวลาเจรจาให้ย้ายออกจากพื้นที่ประมาณ 5 ปี ในที่สุดต้นปี 2566 บ้านทั้งสามหลังได้ย้ายออกไป


หลังจากนั้น กรุงเทพมหานครประสานความร่วมมือกับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ รวมทั้งอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการปรับปรุงสวนให้เรียบร้อยเหมาะสม ก่อนจะเปิดทดลองให้บริการอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าว

เบื้องต้นได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทดลองใช้ในบริเวณพื้นที่สวนหย่อม (ส่วนที่ติดกับถนนราชดำริ) สำหรับเป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยว และออกกำลังกาย

มีทางเข้า-ออกอยู่ 5 ประตู ได้แก่ ประตู 1 ถนนราชดำริ ประตู 2 ฝั่งศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (บริเวณทางเข้าอาคารจอดรถ 3,000 คัน) ประตู 3 และ 4 ฝั่งศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และประตู 5 คลองแสนแสบ ยังไม่เปิดให้เข้า-อออก

รวมทั้งอาคารเอนกประสงค์ 2 ชั้น และสวนป่าบนพื้นที่ 7 ไร่ ตรงข้ามโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ก็ยังไม่เปิดใช้ในขณะนี้เช่นกัน ห้องสุขาต้องไปใช้ที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น B1 เสา J33 ซึ่งต้องข้ามถนน แล้วลงบันไดไปยังชั้นใต้ดิน

ระหว่างที่ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการของสวนปทุมวนานุรักษ์ จะมีการเตรียมเพื่อเปิดอย่างเป็นทางการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางขึ้น-ลงเชื่อมกับทางเดินลอยฟ้า R Walk และสร้างอาคารห้องน้ำบริเวณประตู 1 ถนนราชดำริ

ด้านในจะปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้ดอก พื้นที่สนามหญ้าส่วนหน้า จัดทำเสียงตามสาย เพิ่มไฟแสงสว่าง สัญญาณอินเทอร์เน็ต ป้ายข้อมูลสื่อความรู้และแนวคิดการออกแบบ สำนักงานมูลนิธิฯ และอาคารเอนกประสงค์ เป็นต้น


เมื่อวันก่อน ผู้เขียนได้เข้าไปเดินเล่นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ในช่วงบ่าย ซึ่งขณะนั้นกรุงเทพฯ มีอากาศร้อนจัด จากทางเดินลอยฟ้า R-Walk ต้องลงบันไดที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วเดินย้อนมา ข้ามถนนทางออกศูนย์การค้า

หลังจากที่สวนแห่งนี้เปิดให้บริการ บนทางเดินลอยฟ้า R-Walk เมื่อผ่านสวนแห่งนี้กลายเป็น “มุมมหาชน” ของคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ต่างต้องแวะถ่ายรูปเซลฟี่ เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวหนึ่งเดียวใจกลางย่านราชประสงค์

เข้าไปด้านใน เริ่มจาก สนามหญ้า ที่เป็นหญ้าโล่งๆ มีไม้ประดับเป็นวงกลมอยู่สองวง ตรงจุดนี้พยายามทำทางเดินให้เป็นรูปเลข ๙ ไทย เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

ถัดจากนั้นจะเป็น บึงหน่วงน้ำ ซึ่งรับน้ำมาจากบึงบำบัดน้ำอีกที ต่อด้วย เวทีริมน้ำ ซึ่งมีถนนอยู่ตรงกลาง ฝั่งหนึ่งเป็นที่นั่งเรียงกันเป็นขั้นๆ อีกฝั่งหนึ่งเป็นลานกว้าง ใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดการแสดงต่างๆ






เดินผ่ากลางเวทีริมน้ำ ไปยัง สะพานข้างบึงบำบัดน้ำ โซนดังกล่าวเป็นการจำลองระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ผ่านต้นพืชที่ปลูกไว้ ซึ่งหากมาจังหวะดีๆ จะได้เห็นนกยางเปียสีขาวปากดำ เดินอวดโฉมอย่างใกล้ชิด

มุมที่ผู้คนนิยมไปถ่ายรูปมีอยู่หลายมุม มุมมหาชนยอดนิยมก็คงจะเป็นแท่งคอนกรีตระหว่างลานและพื้นที่จัดแสดง กับอาคารเอนกประสงค์ อีกจุดหนึ่งจะเป็นสะพานไปยังบึงบำบัดน้ำ วิวด้านหลังศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสวนแห่งนี้ก่อสร้างมานานกว่า 5 ปี แม้สภาพด้านในยังบำรุงรักษาดีอยู่ แต่ป้ายบอกทางในสวนมีสภาพสีซีดจางอย่างเห็นได้ชัด คงต้องรอให้ทางสวนเตรียมการปรับปรุงก่อนเปิดอย่างเป็นทางการ






จากประสบการณ์ที่เข้าชมสวนแห่งนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำก็คือ เนื่องจากที่นี่ยังไม่มีร้านค้า ยังไม่มีซุ้มจำหน่ายเครื่องดื่มและขนม แม้จะมีน้ำดื่มแจกฟรีที่เต็นท์อำนวยการชั่วคราว แต่ซื้อน้ำเย็นมาจากด้านนอกดื่มเองจะดีกว่า

อย่างต่อมา เนื่องจากสวนแห่งนี้ยังไม่มีห้องน้ำ และการเดินเท้าระหว่างสวนไปยังห้องน้ำที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต้องเดินข้ามถนน เดินลงบันไดไปยังชั้นใต้ดิน และต้องหาเสาให้เจอ แนะนำว่าทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนเข้ามา

และเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนจัด แนะนำให้ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน และระมัดระวังโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก หากมาช่วงกลางวัน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นสนามหญ้าโล่งแจ้ง มีที่ร่มเงาบริเวณโซนเวทีริมน้ำ

เนื่องจากสวนแห่งนี้ไม่มีที่จอดรถ แนะนำว่าให้มาด้วยรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ เรือคลองแสนแสบ หรือแท็กซี่ หากนำรถส่วนตัวมา หากจอดรถที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จะมีค่าจอดรถตามอัตราที่กำหนด






อย่างไรก็ตาม สวนแห่งนี้เปิดให้ประชาชนที่ทดลองใช้บริการแสดงความคิดเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอ นำมาพัฒนาปรับปรุงก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

คนที่ใช้บริการสวนแห่งนี้มาแล้ว แสดงความคิดเห็นมาได้ที่เว็บไซต์ https://forms.gle/QjgWc6fBwJiryCJS6 หรืออีเมล info.pathumwananurakpark@gmail.com ใครอยากได้อะไร เพิ่มเติมจุดไหน เข้าไปคอมเมนต์กันได้

เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนกรุงเทพฯ จะได้ปอดแห่งใหม่ กับพื้นที่สีเขียวใจกลางย่านการค้าและแหล่งชอปปิ้งชั้นนำ ให้ได้มีเวลาออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรม พักผ่อนหย่อนใจ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.




หมายเหตุ : สวนปทุมวนานุรักษ์ ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำริ ติดกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดอย่างไม่เป็นทางการ 10.00-18.00 น. สำหรับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ผ่านสกายวอล์ค ระหว่างสถานีสยามกับสถานีชิดลม เมื่อเข้าไปในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์แล้ว ให้ลงไปยังโซนไอ (I) แล้วเดินออกมาที่ประตูข้างศาลพระตรีมูรติ เลี้ยวซ้ายลงไปยังทางเท้าด้านล่าง

รถเมล์สายที่ผ่านป้ายเซ็นทรัลเวิลด์ (ถนนราชดำริ) เพื่อไปยังสวนปทุมวนานุรักษ์


ขสมก.

สาย 2 อู่ปู่เจ้าสมิงพราย - ท่าปล่อยรถสราญรมย์
สาย 13 อู่คลองเตย - ท่าปล่อยรถห้วยขวาง
สาย 54 วงกลมรอบเมือง - ห้วยขวาง
สาย 73 อู่สวนสยาม - สะพานพุทธ
สาย 77 อู่สาธุประดิษฐ์ - หมอชิตใหม่
สาย 204 กทม.2 - ท่าน้ำราชวงศ์
สาย 511 ปากน้ำ - สายใต้ใหม่
สาย 514 มีนบุรี - รัชดา - สีลม
สาย ปอ.79 พุทธมณฑลสาย 2 - ราชประสงค์
สาย ปอ.505 ปากเกร็ด - สวนลุมพินี
สาย A3 สนามบินดอนเมือง - สวนลุมพินี

กลุ่มไทยสมายล์บัส / สมาร์ทบัส

สาย 2 (3-1) ปากน้ำ - ท่าเรือสะพานพุทธ
สาย 14 (3-39) ถนนตก - ศรีย่าน
สาย 17 (4-3) พระประแดง - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สาย 77 (3-45) พระราม 3 - หมอชิตใหม่
สาย 504 (1-18E) รังสิต - บางรัก (ทางด่วน)
สาย 2-34 วงกลมสถานีรถไฟสามเสน - ดินแดง
สาย 3-53 สถานีรถไฟฟ้าหัวหมาก – เสาชิงช้า

อื่นๆ

สาย 74 ห้วยขวาง - คลองเตย (มินิบัส)


กำลังโหลดความคิดเห็น