ผลการจัดอันดับพาสปอร์ตของโลกปี 2566 ญี่ปุ่นคว้าแชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก 5 ปีติดต่อกัน ส่วน “ไทย” ติดอันดับ 68 จากทั้งหมด 109 อันดับ ขณะที่อัฟกานิสถานรั้งอันดับสุดท้าย
เผยอันดับพาสปอร์ตโลกของประเทศต่าง ๆ จากผลการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ (Henley Passport Index) ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ. 2566
สำหรับปีนี้ นับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้วที่ญี่ปุ่นครองแชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) และจัดอันดับ199 พาสปอร์ตทั่วโลก จำนวน 109 อันดับ ตามจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือพาสปอร์ตนั้นสามารถเดินทางไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่ามาก่อน
ทั้งนี้ปัจจุบัน พลเมืองญี่ปุ่นสามารถเดินทางสู่จุดหมาย 193 แห่ง จากทั้งหมด 227 แห่งทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival)
สำหรับ 5 อันดับ พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ปี 2566 มีดังนี้
อันดับ 1. ญี่ปุ่น สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 193 แห่ง โดยไม่ต้องขอวีซ่า
อันดับ 2. เกาหลีใต้และสิงคโปร์ สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 192 แห่ง โดยไม่ต้องขอวีซ่า
อันดับ 3. เยอรมนีและสเปน สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 190 แห่งทั่วโลก โดยไม่ต้องขอวีซ่า
อันดับ 4.สหราชอาณาจักร และลักเซมเบิร์ก สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 187 โดยไม่ต้องขอวีซ่า
อันดับ 5. ออสเตรีย เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 188 แห่ง โดยไม่ต้องขอวีซ่า
ส่วนพาสปอร์ตประเทศไทยติดอันดับที่ 68 สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 78 แห่ง โดยไม่ต้องขอวีซ่า
ขณะที่อัฟกานิสถานยังคงอยู่ในอันดับรั้งท้ายในการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ โดยสามารถเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่าสู่จุดหมายเพียง 27 แห่ง ซึ่งห่างจากอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่นถึง 166 แห่ง นับเป็นช่องว่างด้านการเดินทางที่กว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ 18 ปีของดัชนี
ดร. คริสเตียน เอช. เคลิน (Dr. Christian H. Kaelin) ประธานของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) กล่าวว่า ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่ากับการเข้าถึงเศรษฐกิจโลก เผยให้เห็นว่าอำนาจของพาสปอร์ตมีความหมายอย่างไรในแง่ของการเงินที่เป็นรูปธรรม
“สำหรับพลเมืองโลก วิธีการวัดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการเงินอันเป็นผลมาจากพาสปอร์ตก็คือ การดูสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลกที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งผลวิจัยล่าสุดของเราเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงเศรษฐกิจโลกของพาสปอร์ต ถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับนักลงทุนและให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับช่องว่างความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดโลกของเรา” ดร. คริสเตียน เอช. เคลิน กล่าว