xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่ศิลปะไทย งาน “ศิลปกรรมกระจก” 2 แห่งแรกในไทย กับภาพ “รัชกาลที่ ๙” งดงามเป็นเอกลักษณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ศิลปกรรมกระจก ภาพ ร.๙ ที่วัดมณีจันทร์ (ซ้าย) วัดท่าข้าม (ขวา) (ภาพจาก : FB Asawinee Wanjing)
ชวนชม “ศิลปกรรมกระจก” อันงดงามวิจิตร มิติใหม่ของงานศิลปะไทย จากผลงานการสร้างสรรค์ของ “รศ.อัศวิณีย์- อ.อุดม หวานจริง และทีมงาน” ที่ “วัดมณีจันทร์-บุรีรัมย์” และ “วัดท่าข้าม-เชียงใหม่” ซึ่งนอกจากจะมีภาพเรื่องราวในพุทธศาสนาและวิถีวัฒนธรรมชุมชนแล้ว ยังมีไฮไลท์คือภาพ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ที่หลายคนเมื่อได้เห็นภาพพ่อแล้วก็อดน้ำตารื้นไม่ได้

งานศิลปะ “ประดับกระจกสี” ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมไทยและงานพุทธศิลป์ โดยเฉพาะตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในบ้านเรามาช้านานแล้ว (ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย) โดยช่างหรือศิลปินนิยมใช้กระจกสีประดับตกแต่งบนพื้นผิวขององค์ประกอบต่าง ๆ อาทิ หน้าบัน ช่อฟ้า เครื่องลำยอง ลวดลายปูนปั้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดความสวยงามเพื่อแสดงฐานะความสำคัญ และสื่อความหมายแสดงเนื้อหา

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมางานประดับกระจกสีของบ้านเรามักจะทำเป็นรูปทรงเรขาคณิตและลวดลายซ้ำ ๆ กัน แล้วติดประดับลงบนพื้นผิวเพื่อตกแต่งให้งานนั้น ๆ ดูโดดเด่นขึ้น ส่วนการทำงานตัดกระจกสีเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาประดับตกแต่งให้เกิดเป็นรูปร่าง รูปทรง รูปภาพ และเรื่องราวต่าง ๆ ดังเช่น ที่ “วัดเชียงทอง” แห่งเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว นั้น ในอดีตไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรา

งานปูนปั้นประดับกระจกสีที่ผนังด้านนอกโบสถ์วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
กระทั่งเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว ได้มีการสร้างสรรค์งานประดับกระจกสีที่ทำออกมาในลักษณะ ภาพวาดจิตกรรมฝาผนังและภาพจิตรกรรมไทยประเพณีในศาสนสถานขึ้น ที่ “วัดมณีจันทร์” ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกงาน “ศิลปกรรมกระจก” ครั้งสำคัญในบ้านเรา

ศิลปกรรมกระจก


วัดมณีจันทร์” ตั้งอยู่ที่บ้านมะเฟือง ต.มะเฟือง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เป็นวัดเก่าแก่ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 ทางฝั่งตะวันออกของชุมชนบ้านมะเฟือง เดิมมีชื่อ เรียกว่า “วัดจันทร์” ต่อมาเกิดไฟไหม้วัดขึ้น ชาวบ้านจึงย้ายไปสร้างวัดแห่งใหม่ทางฝั่งตะวันตกของชุมชน เมื่อปี 2456 จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดมณีจันทร์” ในปี 2474 ซึ่งยังคงเรียกขานมาถถึงปัจจุบัน

งานประดับกระจกสีที่วัดเชียงทอง หลวงพระบาง  สปป.ลาว
วัดมณีจันทร์มี “สิม” หรือโบสถ์เป็นไฮไลท์สำคัญ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2482 – 2484 มีลักษณะเป็น “โบสถ์มหาอุตม์” (โบสถ์แบบทึบ) ที่มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว

สิมวัดมณีจันทร์มีผ่านการซ่อมแซมบูรณะมาหลายครั้ง โดยการบูรณะครั้งใหญ่ครั้งสำคัญ คือในปี 2549-2554 ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของงานพุทธศิลป์ในบ้านเรา เนื่องจากทางชุมชนได้แรงบันดาลใจของงาน “ศิลปะประดับกระจกสี” หรืองานประดับลาย “ดอกดวง” ของวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว

ทางชุมชนบ้านมะเฟืองจึงได้เชิญ “ผศ.อัศวิณีย์ หวานจริง” (นิรันต์) แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ตำแหน่งในขณะนั้น) และ “อ.อุดม หวานจริง” 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะประดับกระจกในเมืองไทยพร้อมด้วยลูกศิษย์ ให้มาเป็นที่ปรึกษาและออกแบบสร้างสรรค์ งานประดับกระจกสีจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกของสิมวัดมณีจันทร์

สิมวัดมณีจันทร์ กับงานศิลปกรรมกระจก (ภาพจาก : FB Asawinee Wanjing)
ทั้งนี้ศิลปินทั้ง 2 คน ได้คิดค้น แนวทางใหม่ที่แตกต่างจากวัดเชียงทองมาสร้างสรรค์เป็นงานพุทธศิลป์อันสวยงาม รวมถึงมีการใช้วัสดุเทคนิคในการสร้างสรรค์แบบร่วมสมัย มีการคิดค้นพัฒนาเทคนิค วิธีการตัดและติดกระจกในรูปแบบใหม่ จนก่อเกิดเป็นงาน “ศิลปกรรมกระจก” ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว มีความแตกต่างจากงานประดับกระจกในต่างประเทศ

ศิลปกรรมกระจก วัดมณีจันทร์


งานศิลปกรรมกระจกวัดมณีจันทร์ ถือเป็นหนึ่งในความแปลกใหม่ของงานพุทธศิลป์ในบ้านเรา ซึ่งช่างและศิลปินใช้เวลาสร้างสรรค์ อยู่ราว 4 ปี (2549-2554) จึงสำเร็จลุล่วง เป็นวัดแรกของเมืองไทยที่มีงานศิลปกรรมกระจกประดับตกแต่งอย่างสมบูรณ์ครบทั้ง 4 ด้าน (ผนังภายนอก)

งานศิลปกรรมกระจกที่ผนังภายนอกสิมวัดมณีจันทร์ (ภาพจาก : FB Asawinee Wanjing)
สำหรับงานศิลปกรรมกระจกที่ผนังภายนอกทั้ง 4 ด้านของสิมวัดมณีจันทร์นั้น ได้ร้อยเรียงภาพเป็นเรื่องราวตามการเดินประทักษิณาวัตร (เวียนขวา) ดังนี้

ด้านหน้า-นำเสนอเรื่องราวทางพุทธศาสนา เรื่อง “พระมาลัยโปรด 3 โลก” วรรณคดีที่มีความผูกพันกันชาวอีสานซึ่งนับวันจะเลือนหายไป

ด้านข้าง-ฝั่งหนึ่งเป็นภาพเล่าเรื่องประวัติการสร้างเมืองพุทไธสงและพระเจ้าใหญ่พระพุทธรูปคู่เมือง รวมถึงเหตุการณ์สำคัญของชุมชน ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมในยุคปัจจุบันของชาวพุทไธสง อย่างเช่น การทอผ้า การใช้มือถือ ใช้รถไถแทนเกวียน เป็นต้น

งานศิลปกรรมกระจกภาพ ร.๙ และพระพันปีหลวง ที่ด้านหลังสิมวัดมณีจันทร์ (ภาพจาก : FB Asawinee Wanjing)
ด้านหลัง-เป็นภาพเหตุการณ์เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อคราวฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และการถวายพระพรของชาวบ้านมะเฟือง ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ที่ชวนซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง

ศิลปกรรมกระจก วัดท่าข้าม


จากความสำเร็จของงานศิลปกรรมกระจกที่วัดมณีจันทร์ รศ.อัศวิณีย์-อ.อุดม หวานจริง และทีมงานได้มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมกระจก แห่งที่ 2 ต่อกันที่ “วัดท่าข้าม” (ชัยชนะ) ที่ตั้งอยู่ที่บ้านท่าข้าม ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

จิตกรรมฝาผนัง ฝีมือ อ.มานิตย์ โกวฤทธิ์ ในโบสถ์วัดท่าข้าม (ภาพจาก : โครงการวิจัย ศิลปะชุมชนบ้านท่าข้าม อ.ฮอด จ.เชียงใหม่)
วัดท่าข้าม เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อวัดชัยชนะ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2445 วัดแห่งนี้มี 2 ไฮไลท์ห้ามพลาด ได้แก่ โบสถ์อายุกว่า 50 ปี ที่ภายในงดงามคลาสสิกด้วยภาพ (วาด) จิตกรรมฝาผนังศิลปะร่วมสมัยผลงานของ “อ.มานิตย์ โกวฤทธิ์” กับภาพเรื่องราวในพุทธศาสนา ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ร่วมถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และภาพบ้านเรือน วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวล้านนา ในภาคกลางวัน-กลางคืน ที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์แปลกแตกต่างจากที่ไหน ๆ

ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลท์คือ “วิหารวัดท่าข้าม” ที่โดดเด่นไปด้วยงานศิลปกรรมกระจก จากผลงานการสร้างสรรค์ของ รศ.อัศวิณีย์-อ.อุดม หวานจริง และทีมงาน

งานศิลปกรรมกระจกที่ผนังด้านนอกของวิหารวัดท่าข้าม ใช้เวลาสร้างสรรค์อยู่นานร่วม 6 ปี (2554-2560) ภาพต่าง ๆ ของที่นี่ใช้การเรียงร้อยเป็นเรื่องราวตามการเดินประทักษิณาวัตรเช่นเดียวกับที่วัดมณีจันทร์

ภาพวิถีวัฒนธรรมที่ด้านข้างวิหารวัดท่าข้าม (ภาพจาก เพจ : วัดท่าข้าม - ชัยชนะ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อ.ฮอด เชียงใหม่)
โดยภาพเรื่องราวที่ปรากฏหลัก ๆ จะเป็นภาพวิถีวัฒนธรรม และประเพณีของชาวชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงโปว์) เพื่อเป็นการอนุรักษ์และบันทึกภาพกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนไว้ให้คงอยู่

นอกจากนี้ก็ยังมีไฮไลท์คืองานประดับกระจกภาพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับยืนอยู่ด้านบน และภาพชาวบ้านมารับเสด็จถวายความจงรักภักดีอยู่ด้านล่างใต้ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นภาพอันงดงามน่าประทับใจยิ่งนัก

งานศิลปกรรมกระจกภาพ ร.๙ และพระพันปีหลวง ที่ด้านหลังวิหารวัดท่าข้าม (ภาพจาก : FB Asawinee Wanjing)
ทั้งนี้รองศาสตราจารย์อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ตำแหน่งปัจจุบัน) ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก บัญชีรายชื่อ Asawinee Wanjing ถึงการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมกระจกทั้งที่วัดมณีจันทร์ และวัดท่าข้าม (ชัยชนะ) ว่า

...ทั้งสองแห่งนี้สร้างสรรค์ตัวภาพด้วยวัสดุกระจกสี มีเทคนิคการตัดกระจกแต่ละชิ้นด้วยมือ ใช้ที่ตัดกระจกทั้งแบบหัวเพชร/โลหะ กว่าจะตัดกระจกได้แต่ละชิ้น ไม่ง่ายเหมือนตัดกระดาษ จึงต้องใช้เวลาสร้างสรรค์แต่ละผนัง ๑-๒ ปี ตั้งใจว่าจะทำไว้ภาคละ ๑ แห่ง ตราบเท่าที่เวลาในชีวิตยังเหลืออยู่ ซึ่งคงเหลืออีกสองภาค...

…ทั้งสองแห่งนี้ เริ่มทำผนังจากด้านหลังก่อน เพราะทางชุมชนต้องการภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี (ขณะนั้นสมัยรัชกาลที่ ๙) ส่วนผนังอื่นเป็นการบันทึก ภาพวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม ของชุมชน ไว้บอกเล่าให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เรื่องราว ความรัก ความศรัทธา ที่คนในชุมชน มีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักและเคารพ ในราชวงศ์จักรี แห่งรัตนโกสินทร์...


งานศิลปกรรมกระจกภาพชาวเขามารับเสด็จ ร.๙ และพระพันปีหลวง ที่ด้านหลังวิหารวัดท่าข้าม (ภาพจาก : FB Asawinee Wanjing)
และนี่ก็คือเสน่ห์ความงามของงานศิลปกรรมกระจก 2 แห่งแรกในเมืองไทย ที่เกิดจากความเพียรและความตั้งใจอย่างสูงล้นของศิลปินและช่าง ที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ ๙ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

สำหรับงานศิลปกรรมกระจกถือเป็นมิติใหม่ของการสร้างสรรค์งานศิลปะในบ้านเรา ซึ่งหลายคนเมื่อได้เห็น “ภาพพ่อ” ผ่านงานประดับกระจกสีอันสวยงามที่ปรากฏอยู่ที่วัดทั้งสองแห่งแล้วก็อดน้ำตารื้นไม่ได้

รศ.อัศวิณีย์-อ.อุดม หวานจริง 2 ศิลปินผู้บุกเบิกงานศิลปกรรมกระจกในบ้านเรา




กำลังโหลดความคิดเห็น