วัดต่าง ๆ ในปัจจุบันมีองค์พระที่มีขนาดใหญ่อยู่หลากหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนให้เข้าวัดมากขึ้น อย่างที่ "วัดธรรมจักรเสมาราม" เป็นวัดที่มี "พระนอน" ก่อด้วยหินทรายอายุกว่า 1,300 ปี มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของไทย
“วัดธรรมจักรเสมาราม” ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านคลองขวาง ต.เสมา อ.สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธไสยาสน์” คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 เดิมพื้นที่บริเวณของวัดนี้เป็นศาสนสถานในสมัยทวารวดีโดยองค์พระพุทธไสยาสน์สร้างขึ้นด้วยการนำหินทรายขนาดใหญ่หลายๆ ก้อน มาประกอบเข้าด้วยกัน ขนาดขององค์พระยาว 13.00 เมตร สูง 2.50 เมตร หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงสลักเป็นสันนูนรูปปีกกา พระเนตรเหยียบลงค์ พระนาสิกแบน ขมวดพระเกศาเป็น รูปก้นหอย พระหัตถ์ขวารองอยู่ได้พระเศียร ครองจีวรห่มคลุม ปลายพระบาทเสมอกัน
พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในอาคารก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 26 เมตร ฐานอาคารที่ปรากฏมีความสูงเพียง 80 เซนติเมตร ภายในอาคารแบ่งเป็นสองห้อง คือ ห้องใหญ่ที่ประดิษฐาน องค์พระและห้องที่อยู่ถัดมาทางทิศเหนือมีบันไดขึ้นด้านหน้า ต่อมา ได้มีการก่อบันไดทางเข้าด้านข้างทางทิศ ตะวันออกเพิ่มอีก พร้อมกับก่อสร้างลานด้านหน้าเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งลานนี้จะคร่อมทับใบเสมาและแนวกำแพงเดิม และมีการสร้างแท่นบูชาในสมัยหลังต่อมาด้วย
ในระยะต่อมาเมื่อชุมชนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอม ก็ยังคงมีการนับถือศาสนาพุทธและเคารพบูชาพระนอน อยู่ ดังจะเห็นได้จากชิ้นส่วนประกอบอาคารที่มีรูปแบบของศิลปะขอม ที่ก่อสร้างดัดแปลงหรือเพิ่มเติมในสมัย หลังนั้นเอง โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบบริเวณโบราณสถานพระนอน ได้แก่ ธรรมจักร พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และยอดเจดีย์สัมฤทธิ์ขนาดเล็กอยู่ภายในวัดบ้านแก่นท้าว ห่างจากเมืองเสมามาทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร เป็นเจดีย์ก่ออิฐ สมัย ทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น จากการขุดแต่งทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าโบราณสถานหลังนี้ มีการก่อสร้างและดัดแปลง รวมสองระยะด้วยกัน
ระยะแรก เจดีย์มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ขนาดขององค์เจดีย์กว้าง 15.30 เมตร ยาว 15.30 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ผนังของฐานแต่ละด้านเป็นช่องสี่เหลี่ยมประดับด้วยลายปูนปั้น
ระยะที่สอง มีการก่ออิฐ พอกทับฐานในระยะแรก ทำให้เจดีย์มีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง 15.30 เมตร ยาว 15.30 เมตร และที่ฐานด้านทิศตะวันออก มีการก่ออิฐเป็นลานขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 15.30 เมตร ยื่นออกมา
ในช่วงเวลาที่เมืองเสมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอม โบราณสถานแห่งนี้ยังคงได้รับการทำนุบำรุงดูแลสืบมา ดังปรากฏหลักฐานเศษภาชนะเครื่องถ้วยขอมที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะตัวเจดีย์
สำหรับธรรมจักรหินทรายศิลปะทวารวดีที่พบ เป็นชนิดเดียวกันกับที่พระปฐมเจดีย์ ศิลปะยุคทวารวดี มีลักษณะคล้ายล้อเกวียน ทำจากศิลาแลงขนาดใหญ่ มีหน้ากว้างทั้ง 2 ด้าน เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.41 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดุมล้อ 31 เซนติเมตร ตอนล่างมีสลักคล้ายหน้าพนัสบดี ซึ่งมีลักษณะผสมสัตว์หลายชนิด คือ มีเขาเหมือนโค มีปากเป็นครุฑ มีปีกเหมือนหงษ์ สัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นพาหนะของเทพให้ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ส่วนพนัสบดีเป็นพาหนะของพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธฝ่ายมหายาน ประดิษฐานอยู่ที่วัดธรรมจักรเสมาราม ภายในอาคารซึ่งอยู่ด้านซ้ายของโบสถ์
และบริเวณไม่ไกลกันมีโบราณสถานที่เป็นเทวสถานให้ชม คือ ปราสาทหินเก่าแก่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แก่ ปราสาทหินเมืองแขก ปราสาทหินโนนกู่ อีกด้วย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline