xs
xsm
sm
md
lg

วันเดย์ทริป ชมศิลป์สมัยอยุธยาใน “ปทุมธานี” วัดโบราณชุมชนมอญ ตะลอนไปริมน้ำย่านเก่าสามโคก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระอุโบสถเก่าแก่ วัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน) กำลังบูรณะครั้งใหญ่ (ปี 2565)
เมืองใกล้กรุง “ปทุมธานี” ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ที่น่าสนใจเที่ยวได้แบบไปเช้าเย็นกลับ ชมวัดชาวมอญที่ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ศึกษาแหล่งโบราณสถานที่มาของ “สามโคก” รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำที่ปรากฏในนิราศภูเขาทองของกวีเอกสุนทรภู่


พระพุทธรูปทรงเครื่องที่วัดโบสถ์
วัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน)

“วัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน)” ตั้งอยู่ใน ต.บ้านกลาง อ.เมือง เป็นวัดโบราณของชาวมอญที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา และสันนิษฐานว่าสร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาจากกรุงหงสาวดี ราวปี พ.ศ. 2164 มีหลักฐานเป็นเสาหงส์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหงสาวดี

ชื่อของวัดน่าจะมาจากชื่อหมู่บ้านหรือถิ่นฐานที่ชาวมอญอพยพมา ส่วนหลวงปู่เทียน เป็นชื่อของพระครูบวรธรรมกิจ พระเกจิชื่อดังอดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปแล้ว ซึ่งมีรูปหล่อของหลวงปู่เทียนภายในมณฑปด้านหน้าวัด

ไฮไลท์ของวัดโบสถ์ ต.บ้านกลาง ต้องแวะไปชมพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งมีกรอบประดับหน้าบันแกะสลักประดับด้วยลวดลายศิลปะอยุธยาผสมยุโรป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องงดงามตามแบบอย่างจักรพรรดิราช เป็นพระรามัญทรงเครื่องอายุกว่า 400 ปี ที่หาชมได้ยาก โดยมีองค์จำลองขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญ (ปัจจุบันใน ปี 2565 พระอุโบสถหลังเก่า กำลังทำการบูรณะครั้งใหญ่ แต่ยังสามารถเข้าไปชมพระพุทธรูปโบราณด้านในได้)

หน้าพระอุโบสถ วัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน)
สิ่งน่าสนใจอื่นๆภายในวัด ยังมีศาลาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นสถาปัตยกรรมและข้าวของที่ตกแต่งทั้งภายนอกและภายในเป็นแบบกึ่งศิลปะจีนผสมไทย มีพระรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่ 3.5 เมตร ที่มีความงดงาม และบริเวณวัดยังมีองค์ท้าวเวสสุวรรณให้สักการะตามความเชื่อในสมัยนิยม

ทั้งนี้ วัดโบสถ์ ในปทุมธานี ยังมีอีกหนึ่งแห่ง คือ "วัดโบสถ์ (หลวงพ่อโตองค์ใหญ่)” ต.บางกระบือ อ.สามโคก ซึ่งเป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และสร้างโดยชาวมอญอพยพเช่นกัน

ศาลาสมเด็จพระเจ้าตากสิน

มณฑปหลวงปู่เทียน

เขตโบราณสถาน วัดสิงห์
วัดสิงห์

วัดเก่าแก่ใน อ.สามโคก ปรากฏจารึกในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่ามีมาก่อนการอพยพถิ่นฐานของชาวมอญ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดของปีที่สร้าง แต่สันนิษฐานว่าวัดน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

โกศหลวงพ่อพญากราย
วัดสิงห์มีเขตโบราณสถานซึ่งสมบูรณ์ไปด้วยงานศิลปะอยุธยาผสมมอญที่หาชมได้ยาก เช่น พระอุโบสถสมัยอยุธยาตอนกลาง สถาปัตยกรรมรูปแบบอาคารทรงโรง มีมุขหน้า หลังคาซ้อนสองชั้น จั่วสูง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อพุทธรัตนมุนี, วิหารน้อย อาคารขนาดเล็ก มีช่องเข้าออกทางเดียว ซึ่งมีฐานแอ่นโค้งสำเภาตามลักษณะการสร้างสมัยอยุธยา , โกศหลวงพ่อพญากราย พระภิกษุเชื้อสายเจ้ารามัญผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาส โกศมีรูปแบบงานปูนปั้นศิลปะแบบมอญผสมไทยที่ลวดลายวิจิตร เป็นต้น

หลวงพ่อโต ในศาลาดิน วัดสิงห์
อีกหนึ่งจุด คือ ศาลาดิน หรือวิหารโถง อาคารทรงไทยจั่วลูกฟักหน้าพรหม ตั้งแต่สมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี เป็นอาคารทรงไทยจั่วลูกฟักหน้าพรหม เป็นศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ด้านหน้า คือ หลวงพ่อโต พระประธานปางมารวิชัยภายในกรอบซุ้มเรือนแก้ว 

ส่วนด้านหลังเป็นหลวงพ่อเพชร พระพระธานปางไสยาสน์ ซึ่งมีซุ้มเรือนแก้วคั่นอยู่ ซึ่งฉากด้านหลังซุ้มเรือนแก้วมีจิตรกรรมศิลปะสมัยอยุธยาซึ่งน่าจะเก่าแก่ที่สุดในปทุมธานี เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสร็จจากดาวดึงส์ แต่ทว่าภาพนั้นเลือนรางมาก

 หลวงพ่อเพชร ด้านหลังหลวงพ่อโต

เตาสามโคก ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
โบราณสถานเตาสามโคก
หลายคนอาจได้ยินชื่อ อ.สามโคก มานานแต่ไม่ทราบที่มา โบราณสถานแห่งนี้จะช่วยไขคำตอบนั้นได้ เพียงเดินเท้าจากวัดสิงห์ข้ามมาอีกฟากถนน จะเจอที่ตั้งของแหล่งเตาสามโคก (บ้างเรียก เตาโอ่งอ่าง เนื่องจาก เตาได้รับการยอมรับนำไปขายทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนถึงคลองโอ่งอ่างในบางกอก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งย่านการค้าสำคัญของยุคก่อน)

โบราณสถานแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญสมัยปลายอยุธยา สะดุดสายตาด้วยเตาเผาโบราณลักษณะก่ออิฐสอดินเหนียวเรียงกันคล้ายเรือคว่ำ มีปล่องระบายความร้อนด้านบน ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของชาวมอญที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาจนสร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในคุณภาพ

เตาสามโคก ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ส.พลายน้อย ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับที่มาของชื่อสามโคกเอาไว้ 2 ประการ คือ บริเวณที่ชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานสร้างเตาเผากันมาก แต่ด้วยเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง จึงจำเป็นต้องสร้างโคกสำหรับทำเตาเผา ซึ่งสุดท้ายเหลือจำนวน 3 โคก ส่วนอีกข้อสันนิษฐาน คือ อาจมาจาก Sam Koc ตำบลหนึ่งในเมืองมอญ เมื่อชาวมอญอพยพถิ่นฐานมาก็ยังตั้งชื่อตามถิ่นฐานเดิม

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ หน้าที่ว่าการอำเภอสามโคกหลังเก่า
ชุมชนริมน้ำสามโคก

ก่อนร่ำลา อ.สามโคก อย่าลืมแวะไปชมชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ ที่ว่าการอำเภอสามโคกหลังเก่า อาคารสุดคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งปัจจุบันอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของอำเภอ และด้านหน้าอาคารมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ด้วยสมัยที่กวีเอกประพันธ์นิราศภูเขาทอง มีเนื้อหากล่าวถึงสามโคกเอาไว้ด้วย

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่ สุนทร ประทานตัว ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่บางเตย
หากเดินทางไปตรงวันหยุดสุดสัปดาห์ ชุมชนจะครึกครื้นไปด้วยบรรยากาศของตลาดอิงน้ำสามโคก ที่ร้านรวงต่างๆเปิดกันอย่างคึกคัก เดินช้อป ชิม บรรยากาศย้อนยุคที่มีอาคารร้านค้าสถาปัตยกรรมแบบห้องแถวสมัยก่อน โรงหนังเก่า ร้านค้าเจ้าเก่า ไปจนถึงศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่บางเตย บริเวณทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งท้ายการท่องเที่ยวปทุมธานีได้อย่างอิ่มเอมใจ

สะพานข้ามไปสู่ตลาดอิงน้ำสามโคก
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น