“กาญจนบุรี” จังหวัดทางฝั่งตะวันตกของไทย ที่เมื่อพูดถึงจังหวัดนี้ก็ต้องนึกถึงเส้นทางรถไฟอันเป็นตำนาน นั่นคือ ทางรถไฟสายมรณะ และเหตุการณ์ในช่วงการสร้างทางรถไฟเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเชลยศึกจากหลายชาติ
นอกจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่ถูกพูดถึงมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีเรื่องราวเล็กๆ ที่มีความสำคัญทางด้านโบราณคดีในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วย
ซึ่งเรื่องราวเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่) นี้ สามารถมาทำความรู้จักกันได้ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า” ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีราวๆ 30 กิโลเมตร (อยู่ห่างจากปราสาทเมืองสิงห์ประมาณ 10 กิโลเมตร)
ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเปิดใหม่ของกาญจนบุรี ที่สามารถมาเที่ยว มาเรียนรู้ และมาถ่ายรูปสวยๆ กันได้ แต่ต้องบอกว่า เดิมนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า ใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า” (เปลี่ยนมาใช้ชื่อ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า ในปี พ.ศ.2522) โดยถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2508
หลังจากเปิดให้บริการมาเป็นเวลานาน จึงมีสภาพทรุดโทรม รวมถึงมีการค้นคว้าทางโบราณคดีที่มากขึ้น จึงมีการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงสี่เหลี่ยม สีดินเทศ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี และภายในก็มีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ให้ดูทันสมัยขึ้น ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหญ่ของกาญจนบุรี ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
โดยภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ชั้น มีทั้งหมด 9 ห้องจัดแสดง
เปิดประตูเข้ามาก็จะพบกับห้องแรก “เครื่องมือหิน 8 ชิ้นในตำนาน” ทำความรู้จักกับเครื่องมือหิน 8 ชิ้น (จำลอง) ที่ ดร.เอช.อาร์.ฟาน เฮเกอเรน นักโบราณคดีชาวเนเธอร์แลนด์พบขณะเป็นเชลยศึกถูกคุมตัวมาสร้างทางรถไฟสายมรณะใกล้สถานีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับเครื่องมือหินของจริงทั้ง 8 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างประสานงานโดยกรมศิลปากร เพื่อนำกลับประเทศไทย
ห้องต่อมาคือ “เส้นทางรถไฟสายมรณะ จุดเริ่มต้นงานโบราณคดีสากลของไทย” เล่าเรื่องราวผ่านวีดิทัศน์ เป็นเรื่องระหว่างที่ ดร.เอช.อาร์.ฟาน เฮเกอเรน มาเป็นเชลยศึกและก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ การเจอเครื่องมือหินระหว่างก่อสร้าง และการเดินทางของเครื่องมือหินทั้ง 8 ชิ้นนี้ กว่าจะถูกส่งไปทำการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา และได้รับความสนใจจากทั่วโลก จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการขุดค้นทางโบราณคดี และการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ต่อกันด้วยห้อง “บ้านเก่าวันนี้” เล่าเรื่องราวของบ้านเก่า สถานที่ที่มีความสำคัญทางโบราณคดีแห่งนี้ รวมถึงแหล่งโบราณคดีในยุคต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง
จากนั้นเข้าสู่ห้อง “คนยุคแรกเริ่มในลุ่มแม่น้ำแควน้อย-แควใหญ่” พาเดินทางย้อนกลับไปสู่ถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์ คนในยุคนั้นมีวิถีชีวิตอยู่อย่างไร วิธีล่าสัตว์ ทำเกษตรกรรม ประดิษฐ์เครื่องมือในการดำรงชีวิตอย่างไร ผ่านภาพเคลื่อนไหวที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ก่อนจะมาพบกันเครื่องมือหินที่พบจากลุ่มน้ำแควน้อย-แควใหญ่ ในรูปแบบต่างๆ
เดินผ่านทางลาดขึ้นมาสู่ชั้น 2 ซึ่งระหว่างทางเดินตั้งแต่ชั้นแรกจนถึงชั้นบนสุด จะบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การกำเนิดมนุษย์ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ ก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบันนี้
มาถึงชั้น 2 เป็นห้อง “วัฒนธรรมบ้านเก่า ผู้คน และวิถีชีวิต” มาทำความรู้จักกับ “วัฒนธรรมบ้านเก่า” อันหมายถึง กลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ในภาคตะวันตกของไทย ที่ผู้คนมีการตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามที่ราบ หรือเชิงเขาที่ไม่ไกลจากลำน้ำ ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ป่า รู้จักทำขวานหินขัด มีการผลิตภาชนะดินเผารูปแบบหลากหลาย โดยมีภาชนะรูปแบบเด่นคือ หม้อสามขา ภาชนะทรงพาน ภาชนะคอสูงมีเชิง ภาชนะทรงถาดก้นลึก และภาชนะทรงชามมีสัน
โดยที่มาของชื่อวัฒนธรรมบ้านเก่า ได้มาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าอันเป็นแหล่งขุดค้นพบแห่งแรก กำหนดอายุวัฒนธรรมบ้านเก่าตั้งแต่ประมาณ 4,000 ปี ลงมาจนถึง 3,000 ปีที่แล้ว
ในห้องนี้จะชวนมารู้จักกับเครื่องมือเครื่องใช้ของคนบ้านเก่า อย่าง “หม้อสามขา” ภาชนะรูปแบบเฉพาะของวัฒนธรรมบ้านเก่า แต่ก็มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยทางภาคใต้ของไทย และทางตอนเหนือของมาเลเซีย ที่ได้พบหม้อสามขาด้วยเช่นกัน และยังมีภาชนะรูปทรงอื่นๆ ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่
ก่อนจะมาทำความรู้จักกับคนบ้านเก่า มีหน้าตาเป็นอย่างไร ที่เรียนรู้ได้จากผลการศึกษาวิเคราะห์จากโครงกระดูกมนุษย์ 44 โครง ที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ซึ่นศึกษาพบว่าคนบ้านเก่านั้นมีหน้าตาและลักษณะใกล้เคียงกับคนไทยในปัจจุบัน และเมื่อรู้จักหน้าตากันแล้ว ก็ยังมีหุ่นจำลองวิถีชีวิตคนสมัยหินใหม่ให้ได้ชม มีทั้งการเพาะปลูก การปั้นภาชนะ และพิธีกรรมต่างๆ
จากชั้น 2 ขึ้นมาสู่ชั้น 3 เริ่มที่ห้อง “บ้านเก่าและภาคตะวันตก จากสมัยหินสู่สมัยโลหะ” พาไปเรียนรู้เรื่องคนภาคตะวันตกเริ่มใช้โลหะครั้งแรกเมื่อราว 3,000 ปีที่แล้ว มีทั้งสำริดและเหล็ก โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ เครื่องประดับและภาชนะสำริดจากแหล่งโบราณคดีในอำเภอต่างๆ ของกาญจนบุรี
ต่อเนื่องกันที่ห้อง “ศิลปะถ้ำในกาญจนบุรี” รู้จักกับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ รูปแบบของภาพ เทคนิคการเขียนภาพ และภาไปชมภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่พบในกาญจนบุรี ได้แก่ แหล่งภาพเขียนสีถ้ำรูปเขาเขียว แหล่งภาพเขียนสีถ้ำตาด้วง แหล่งภาพเขียนสีเขาวังกุลา แหล่งภาพเขียนสีถ้ำผาแดง/ถ้ำมือแดง และ แหล่งภาพเขียนสีเขาหนองพุก
จากนั้นเป็นห้อง “กาญจนบุรีกับวัฒนธรรมโลงไม้” มารู้จักกับวัฒนธรรมโลงไม้ผ่านการแสดงโลงศพไม้ลักษณะคล้ายเรือ หัวท้ายสลักเป็นรูปคนหรือสัตว์ พบที่ราบสูงตามเทือกเขาทางทิศตะวันตก ซึ่งแม้ว่าวัฒนธรรมโลงไม้นี้จะพบในประเทศไทยได้ที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน อุบลราชธานี รวมไปถึงการเป็นวัฒนธรรมร่วมตั้งแต่จีนตอนใต้ และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่กาญจนบุรีก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น เป็นโลงไม้ที่ทำจากไม้พะยูงและไม้ประดู่ บริเวณหัวโลงสลักเป็นเดือยยื่นออกมา เป็นต้น
มาถึงห้องสุดท้าย “จากชุมชนก่อนประวัติศาสตร์สู่สังคมเมืองแรกเริ่ม” ในพื้นที่กาญจนบุรีมีหลักฐานของการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้น เรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อยู่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อกับดินแดนภายนอกได้สะดวก จนพัฒนามาสู่การค้าขายกับดินแดนอื่น และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากต่างแดน อย่างเช่นใกล้ๆ กับแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ก็เป็นที่ตั้งของ “ปราสาทเมืองสิงห์” ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณ
เดินชมกันจนครบทั้งสามชั้นแล้ว แนะนำให้เดินไปด้านหลังพิพิธภัณฑ์ จะมีสกายวอล์คเล็กๆ ที่ยื่นออกไปด้านนอก ให้ได้มองเห็นทิวทัศน์รอบๆ ที่ยังคงเป็นธรรมชาติ และอย่าลืมเดินมาด้านหน้าตึกพิพิธภัณฑ์ที่สีสันสดใส เป็นมุมถ่ายรูปสวยๆ ที่ต้องมาเช็คอินให้ได้
* * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า” ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เปิดให้บริการวันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-3454-0671
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline