“พะเยา” จังหวัดเล็กๆ ในภาคเหนือตอนบน หลายครั้งที่ถูกมองเป็นเมืองผ่าน แต่หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวสักครั้งก็มักจะต้องมนต์เสน่ห์อันชวนค้นหา
พะเยาเป็นหนึ่งในพื้นที่ของอดีตเมืองล้านนา ที่ยังคงสืบทอดความงดงามของดินแดนล้านนาไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างในวัดวาเก่าๆ ที่ล้วนสะท้อนความมีเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของคนยุคก่อนให้คนรุ่นหลังแบบเราได้ยลกัน
หนึ่งในวัดสวยของจังหวัดพะเยาต้องยกให้ “วัดนันตาราม” แห่งอำเภอเชียงคำ ซึ่งเมื่อเข้าไปด้านในวัดแล้วก็จะเห็นวิหารไม้สักที่งดงาม อายุกว่า 100 ปี ภายในวิหารยกเป็น 3 ชั้น ชั้นสูงสุดคือชั้นพุทธะเป็นชั้นประดิษฐานของพระประธานและพระพุทธรูป รองลงมาเป็นชั้นของพระสงฆ์ และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่นั่งของอุบาสก อุบาสิกา ในวิหารมีเสาทั้งหมด 68 ต้น ลงรักปิดทอง 40 ต้น เพดานลงลวดลายประดับด้วยกระจก ศิลปะแบบมัณฑะเลย์
ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานไม้สักทองนาม พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์ แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ มีพระพักตร์งามสงบเปี่ยมด้วยเมตตา มีขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศาประมาณ 9 ศอก
องค์พระประดิษฐานบนสิงหบัลลังก์ไม้ประดับลวดลายและกระจกสี งามอลังการด้วยไม้ฉลุศิลปะพม่า เป็นลวดลายเครือเถา ทั้งยังมีกามเทพตัวน้อย (คิวปิด) เทพแห่งความรัก8 องค์ แกะสลักอยู่ในด้านหลังพระประธานด้วย คาดว่าได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก เพราะสร้างในสมัยที่พม่าเป็นคนในบังคับของอังกฤษ และมีลวดลายสัตว์หิมพานต์เป็นนางนกกิงกะหร่า (กินรี)
นอกจากนั้นภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ อาทิ พระเจ้าแสนแส้ พระพุทธรูปเก่าแก่เนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สูง 24 นิ้ว สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบเชียงแสน องค์พระสามารถถอดประกอบเป็นชิ้นๆ ได้โดยมีสลัก หรือแซ่ ตอกให้ชิ้นส่วนขององค์พระเชื่อมติดกันอย่างมั่นคง ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนรับรองเป็นโบราณวัตถุ
นอกจากนั้นพระพุทธรูปหยกขาวงดงามศิลปะพม่า พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ที่สร้างจากดอกไม้หอมนานาชนิดในเมืองตองจี ประเทศพม่า ซึ่งนำมาตากแห้งและบดให้ละเอียดผสมกับยางรัก เถ้าฟางเผาคลุกกับดินจอมปลวก แล้วปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร
ด้านในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ ส่วนด้านนอกนั้นเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ยี่สิบห้าศตวรรษ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ.2500 ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม
อีกหนึ่งวัดสวยของพะเยา “วัดศรีชุม” ใน ต.สว่างอารมณ์ อ.ดอกคำใต้ ที่นี่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่าง “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปทองสำริด ศิลปะเชียงแสน อายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในละแวกนั้น โดยพระเจ้าทันใจ ได้หายออกไปจากวัดแห่งนี้ร่วมร้อยปี ก่อนจะถูกอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่เดิมเมื่อปี 2554
จากนั้น จึงมีแนวคิดที่จะสร้าง “วิหารพระเจ้าทันใจ” เพื่อประดิษฐานองค์พระเจ้าทันใจ โดยเป็นวิหารปูปั้นสีขาวสะอาดตา ศิลปะล้านนาประยุกต์ ตั้งอยู่บนฐานยกสูงจากพื้นดิน 6 เมตร พื้นที่ด้านล่างวิหารจะทำเป็นถ้ำวิปัสสนา สำหรับผู้ที่ต้องการมาถือศีลทำบุญในบรรยากาศเงียบสงบ
ส่วนด้านในวิหาร ภายในแกะสลักด้วยไม้สักทองทั้งหมด บอกกล่าวเรื่องราวของชาดกพระพุทธเจ้า 10 ชาติ รูปสัตว์ในวรรณคดี ตลอดจนลวดลายลายกนก-ลายไทย ส่วนบริเวณที่ตั้งประประธาน ซึ่งเมื่อวิหารแล้วเสร็จจะอัญเชิญพระเจ้าทันใจมาประดิษฐาน ก็ยังมีรูปเหมือนหลวงปู่ทวดและเกจิดังทั่วประเทศ ที่แกะสลักด้วยไม้สักทอง โดยขณะนี้วิหารพระเจ้าทันใจกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ก็เปิดให้พุทธศาสนิกเข้าชมด้านในได้
มาถึงพะเยาแล้วก็พลาดไม่ได้ที่จะแวะ “กว๊านพะเยา” หนึ่งในสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพะเยา
กว๊านพะเยานอกจากจะเป็นดังแหล่งชีวิตเส้นเลือดหลักของเมืองพะเยาแล้ว ที่นี่ยังขึ้นชื่อในเรื่องของทัศนียภาพอันงดงาม โดยเฉพาะบรรยากาศในยามเช้าและเย็นอันทรงเสน่ห์ เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ใครต่อหลายคนมาเยือนยังกว๊านพะเยาแห่งนี้
นอกจากนี้กลางทะเลสาบกว๊านพะเยายังเป็นที่ตั้งของ “วัดติโลกอาราม” วัดกลางน้ำที่ตั้งเด่นอยู่บนเกาะกลางกว๊าน สามารถมองเห็นได้ไกลๆ จากบนฝั่ง
วัดติโลกอาราม เป็นวัดที่สันนิษฐานว่า พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาเมืองเชียงใหม่ โปรดฯให้เจ้าหัวแสน เจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นมาในช่วงราวปี พ.ศ. 2019-2030 ครั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบันในปี พ.ศ. 2484-2484 ทางกรมประมงได้กั้นประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจนเกิดเป็น “กว๊านพะเยา” ขึ้นมา แต่การกั้นประตูน้ำในครั้งนั้นส่งผลให้ ชุมชน บ้านเรือน เรือกสวน และวัดหลายแห่งในพื้นที่กักเก็บน้ำ รวมถึงวัดติโลกอารามที่ต้องจมลงอยู่ใต้ผืนน้ำ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านวัดศรีอุโมงค์คำได้ขุดค้นพบพระเครื่องและพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ที่ต่อมาเรียกขานว่า “หลวงพ่อศิลา” หรือ “พระเจ้ากว๊าน” ซึ่งทางชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่ “วัดศรีอุโมงค์คำ” โดยได้มีการทำพิธีสมโภชน์ถึง 7 วัน 7 คืนด้วยกัน
ต่อมาในปี 2550 ได้มีการสำรวจวัดร้างกลางกว๊านที่ค้นพบหลวงพ่อศิลา พบหลักฐานเป็นศิลาจารึกเขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม แปลได้ว่า “วัดติโลกอาราม” ทางจังหวัดจึงได้ลงมือบูรณะปรับแต่งวัดติโลกอารามแล้วเสร็จภายในปี 2550 จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลาให้มาประดิษฐานที่วัดติโลกการามเป็นการกลับคืนสู่กว๊านพะเยาอีกครั้ง
ปัจจุบันวัดติโลกอารามมีหลวงพ่อศิลาที่มีพุทธลักษณะอันงดงามเป็นพระประธาน ประดิษฐานโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางแจ้งบนเกาะกลางกว๊านพะเยา ให้พุทธศาสนิกชนได้นั่งเรือแจวพื้นบ้านจากท่าเรือวัดติโลกอาราม มาสักการะหลวงพ่อศิลาท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมของสายน้ำขุนเขาอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์แห่งกว๊านพะเยา
ไฮไลต์สำคัญที่ห้ามพลาดเมื่อมาที่วัดติโลกอารามแห่งนี้ คือการ “เวียนเทียนกลางน้ำ” ที่ทางจังหวัดพะเยาได้จัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 โดยเฉพาะในทุกๆ วันพระใหญ่ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนา คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา จะมีการจัดพิธีเวียนเทียนกลางน้ำ ใครอยากเห็นความงดงามก็สามารถเลือกมาให้ตรงกับวันพระใหญ่ได้ แต่หากว่ามาในวันอื่นๆ ก็ยังสามารถนั่งเรือออกไปเวียนเทียนกลางน้ำได้ และขึ้นไปเดินเวียนเทียนรอบๆ องค์หลวงพ่อศิลาได้ด้วยเช่นกัน
ทำบุญไหว้พระกันเสร็จแล้ว ช่วงเย็นๆ ชวนแวะนั่งริมกว๊านพะเยา ชมพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสงบเงียบ แสงสีส้มส่องสะท้อนผืนน้ำในกว๊าน เป็นการอำลาวันแห่งความสุขที่พร้อมต้อนรับวันรุ่งขึ้นอย่างสดใส
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline