พาไปรู้จักกับ 5 มนต์ขลังวัฒนธรรมอินเดียอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่ปรากฏผ่านหนังดัง “คังคุไบ” ซึ่งใครที่กำลังอินกับหนังเรื่องนี้ก็สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไม่ยากเย็น
ยังคงแรงต่อเนื่องสำหรับหนังบอลลีวูด เรื่อง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” หรือที่บ้านเราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “คังคุไบ” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ในบ้านเรานั้นก็สุดปังชนิดที่เกิดเป็นกระแสฟีเวอร์ มีคนดัง คนไม่ดัง แต่งตัวแต่งตัวเลียนแบบคังคุไบกันว่อนโซเชียล
“Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” เป็นหนังอินเดียยุคใหม่ สร้างขึ้นมาจากนิยายเรื่อง “Mafia Queen of Mumbai” เขียนโดย “ฮุสเซน ไซดี” (Hussain Zaidi) ซึ่งได้อ้างอิงเรื่องราวชีวิตจริงของ “Gangubai Harjeevandas” (คังคุไบ ฮาร์จีวันดัส) โสเภณีคนดังแห่งเมืองมุมไบ ที่เป็นทั้ง “แม่พระ” และ “มาเฟีย” ในคน ๆ เดียวกัน
ในหนังเรื่องดังกล่าว นอกจากเรื่องราวชีวิตอันชวนทึ่งของคังคุไบที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาเธอต่อสู้ฟันฝ่าจากโสเภณี (ที่ถูกสามีหลอกไปขายในซ่องตั้งแต่วัยรุ่น) ไต่เต้าขึ้นมาเป็นแม่เล้า จนกลายเป็นหญิงเจ้าของซ่องผู้ร่ำรวย และมีอิทธิพลคนหนึ่งของอินเดีย จนได้ชื่อว่า “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ” แล้ว
นอกจากนี้หนังเรื่องคังคุไบยังมีการนำเสนอวิถีวัฒนธรรมอินเดียต่าง ๆ อีกหลากหลาย และนี่ก็คือ 5 วิถีวัฒนธรรมอินเดียคัดสรรจากหนังเรื่องนี้ ที่ล้วนต่างเป็นวัฒนธรรมบันลือโลกที่แสดงถึงอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นอินเดียอันโดดเด่นซึ่งใครที่กำลังอินกับหนังเรื่องนี้ก็สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไม่ยากเย็น
1.ส่าหรี
“ส่าหรี” เป็นชุดประจำชาติของผู้หญิงชาวอินเดีย ที่สืบทอดกันมานับจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้วันนี้ทั่วโลกจะนิยมแต่งการกันด้วยชุดเสื้อผ้าร่วมสมัย แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในอินเดียก็ยังคงแนบแน่นอยู่กับสวมใส่ชุดส่าหรีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
ในหนัง Gangubai Harjeevandas นอกจากจะมีภาพของผู้หญิงชาวอินเดียแต่งกายด้วยชุดส่าหรีหลากสีสันสวยงามแล้ว ภาพของคังคุไบ(หลังจากขึ้นมาเป็นแม่เล้า) ที่ดูโดดเด่นด้วยชุด “ส่าหรีสีขาว” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นนัยยะที่หนังได้แฝงแนวคิดและสื่อออกมาผ่านส่าหรีสีขาวของคังคุไบ ซึ่งตามความเชื่อของชาวฮินดูในอดีตนั้น ผู้หญิงที่สวมส่าหรีสีขาวคือสัญลักษณ์ของ “แม่ม่าย” ต้องสวมชุดสีขาวเพื่อไว้อาลัยให้กับสามีที่จากไป ส่วนในปัจจุบันการสวมใส่ส่าหรีสีขาวของผู้หญิงชาวอินเดียถือเป็นเรื่องปกติ ใครก็สวมใส่ได้ และไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของแม่ม่ายดังเช่นในอดีต
สำหรับหนังเรื่องคังคุไบส่าหรีคือ Soft Power สุดปังที่มีดารา คนดังในบ้านเราจำนวนมาก หยิบชุดส่าหรีมาสวมใส่โพสต์ลงโซเชียลกันรัว ๆ ไม่ว่าจะเป็น กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง, พิ้งกี้-สาวิกา ไชยเดช, จันจิ-จันจิรา จันทร์พิทักษ์ชัย, กระแต อาร์สยาม, ตั๊ก-ศิริพร อยู่ยอด, พิมรี่พาย, เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร ฯลฯ รวมไปถึงหนุ่มสายฮาอย่าง “แทค-ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม” ก็ขออินเทรนด์ใส่ส่าหรีเป็นคังคุไบกับเขาด้วยเหมือนกัน
2.เต้น
“การเต้น” เป็นวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของหนังบอลลีวูด ตั้งแต่หนังอินเดียยุคเก่าดั้งเดิมมาถึงหนังอินเดียยุคใหม่ร่วมสมัย ส่วนใหญ่ต้องมีฉากเต้นที่เป็นดังลายเซ็นเฉพาะตัวของหนังอินเดีย
การเต้นในหนังอินเดียได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมฮินดู แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นท่าเต้นอันพลิ้วไหว ซี่งวันนี้หนังอินเดียหลายเรื่องได้ผสมผสานการเต้นแบบดั้งเดิมกับการเต้นแบบสากลร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง
สำหรับในคังคุไบที่เป็นหนังย้อนยุคช่วงไปในช่วงปี 1950s-1960s ได้มีฉากโชว์เต้น “Garba” ซึ่งคังคุไบเธอได้พูดถึงการเต้นนี้ไว้ในภาพยนตร์ด้วย
Garba เป็นการเต้นรำพื้นเมือง ที่มีต้นกำเนิดมาจากรัฐคุชราตในอินเดีย ซึ่งคังคุไบได้ใส่ส่าหรีสีขาวเต้นแบบจัดเต็มในงานนวราตรีที่ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงไฮไลท์ของหนัง
3.นวราตรี
“นวราตรี” (Navaratri) เป็นอีกหนึ่งเทศกาลดังของอินเดียที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เพราะเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งในรอบปีตามปฏิทินฮินดูของชาวอินเดีย
นวราตรี เป็นเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา และพระแม่ปารวตีในภาคปางต่าง ๆ เก้าปาง จัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง ซึ่งชาวอินเดียทั้งในประเทศอินเดียและที่อยู่ตามประเทศต่าง ๆ จะจัดงานนี้อย่างยิ่งใหญ่ รวมถึงชาวฮินดูในประเทศไทยด้วย โดยงานนวราตรีชื่อดังของไทยก็คือที่ “วัดพระศรีมหาอุมาเทวี” หรือ วัดแขก สีลม
ในหนังคังคุไบฉากงานนวราตรีอันอลังการเป็นอีกหนึ่งฉากเด่นของเรื่อง ซึ่งนางเอกของเราได้เข้าร่วมทำพิธี และเต้นแบบจัดเต็มเพื่อระบายความทุกโศกผ่านท่วงท่าร่ายรำในงานนี้
4.อาหารอินเดีย
อาหารอินเดีย เป็นอีกหนึ่งวิถีวัฒนธรรมและ Soft Power ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก กับสไตล์อาหารที่มีรสชาติเฉพาะตัว กลิ่นเครื่องเทศหอมฉุย
ในหนังคังคุไบแม้อาหารจะไม่ใช่ฉากหลัก ธีมหลัก แต่ก็มีสอดแทรกอยู่ให้บรรดาผู้นิยมอาหารกินเดียตามรอยไปกิน โดยเฉพาะกับ 2 เมนูหลัก ที่ปรากฏเด่นชัดในเรื่อง คือ
-“Nalli Nihari” (จานโปรดของคังคุไบ) เป็นสตูไขกระดูกแกะที่นำขาแกะชิ้นโตไปผัดกับเครื่องเทศเครื่องปรุงต่าง ๆ
-“Bheja Fry” (จานโปรดของกัมลี เพื่อนสนิทคังคุไบ) เป็นสมองแพะหรือแกะทอดกับเครื่องเทศรสชาติเผ็ดร้อนและน้ำเกรวี่
นอกจากนี้ในหนังยังมีโรตี ขนมหวาน Savaiya ขนมหวานงานมงคล และวัฒนธรรมการกินแบบเปิบมือของคนอินเดียอันเป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึง มีฉากร้าน “Olympia Coffee House” ร้านอาหารเก่าแก่อายุ 100 กว่าปี ที่ตั้งอยู่ห่างจากย่านกามธิปุระไปประมาณ 6 กม. ถือเป็นร้านอาหารที่เต็มไปด้วยวิถีสีสันของชาวอินเดีย
5.ชาอินเดีย
อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องชา วัฒนธรรมการดื่มชาในอินเดียมีมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียในฐานะอาณานิคม
การดื่มชาในอินเดียมีทั้ง แบบชาดำ ชาใส่ขิง ชาใส่นม หรือชาผสมเครื่องเทศ ที่เรียกว่า “จาย”
ในหนังเรื่องนี้การดื่มชามีประเด็นและความน่าสนใจตรงที่คังคุไบดื่มชาจากจานรองแก้ว แทนที่จะดื่มชาจากแก้วเหมือนปกติ ซึ่งหนังสื่อนัยยะถึงเรื่องของการแบ่งชนชั้น เนื่องจากคังคุไบเป็นโสเภณีจึงถูกสังคมเหยียดชนชั้น และเธอก็ได้แสดงออกผ่านการดื่มชาในฐานะผู้ที่มีชนชั้นด้อยกว่า
การดื่มชาจากจานรองนี้ปัจจุบันยังคงมีชาวอินเดียส่วนหนึ่งสืบทอดวิธีการดื่มมาจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุผลที่เปลี่ยนไป เป็นการทำให้ชาที่ร้อนมีอุณหภูมิที่เย็นลงเร็วขึ้น เพื่อที่จะดื่มได้ง่ายขึ้น
และนี่ก็คือ 5 วิถีวัฒนธรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของอินเดียที่ปรากฏในหนังเรื่อง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ที่หลายคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตามา หรือบางคนอาจจะเคยมีโอกาสได้สัมผัสมาอย่างลึกซึ้ง รวมถึงบางคนหลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้จบลงก็มีแผนที่จะไปตามรอยคังคุไบกันอย่างใกล้ชิด
#######################
หมายเหตุ : ภาพประกอบ จาก ภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ จาก Netflix