“มังกร” สัตว์ในตำนานที่สืบต่อความเชื่อจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้
มังกร เป็นสัตว์มงคลสำคัญของคนจีน เป็นทั้งสัญลักษณ์และฉายาของประเทศจีน
ความเชื่อเรื่องมังกร และการนับถือมังกร แผ่ขยายอิทธิพลจากจีนไปสู่ทั่วโลกในพื้นที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่
ในบ้านเรามีหลายจังหวัดหลายพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับมังกร หนึ่งในนั้นก็คือจังหวัดราชบุรี ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “เมืองโอ่งมังกร”อันลือลั่น
นอกจากนี้วันนี้ราชบุรียังมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาใน “เส้นทางมังกร” ซึ่งทางจังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จับมือกับภาคเอกชน และ อ.คฑา ชินบัญชร นักโหราศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทย นำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี มาผูกโยงเป็นเส้นทางมังกรที่น่าสนใจ (ตามความเชื่อส่วนตัวเฉพาะกลุ่มบุคคล) พร้อมเชิญชวนให้คนไปไหว้ของพรเสริมสิริมงคล เฮง เฮง เฮง รับพลังบวก โชคดีตลอดปีตลอดชาติกัน
สำหรับเส้นทางมังกรเสริมมงคลจังหวัดราชบุรี มี 5 แห่งให้ตามรอยมงคล ไล่ไปตั้งแต่ หัว เกล็ด สันหลัง ท้อง และ หาง ซึ่งจะมีที่ไหนบ้างขอเชิญทัศนากันได้
หัวมังกร-ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
เริ่มกันที่หัวมังกร คือ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี” ที่ตั้งอยู่ภายในค่ายภาณุรังษี (ต.พงสวาย อ.เมือง : เปิด 6.00 – 20.00 น.) เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองราชบุรี และเป็นศาลหลักเมืองหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร
ศาลหลักเมืองราชบุรี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ภายในศาลนอกจากเสาหลักเมืองที่เป็นองค์ประธานแล้วก็ยังมี ใบเสมาอยู่ข้าหลังเสาหลักเมือง รูปปั้นช้างที่ผนังด้านหนึ่ง ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เคย เคยเลี้ยงช้างและม้าไว้ใช้ในนามศึกสงคราม
นอกจากนี้ก็ยังมีองค์พระพิฆเนศคู่ ขนาบซ้าย-ขวา หน้าเสาหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ และเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น
ศาลหลักเมืองที่นี่จึงเปรียบดังหัวมังกรที่มีพลังอยู่เต็มเปี่ยม
ใครที่มาไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองแล้ว หากมีเวลาแนะนำให้ทำบุญด้วยการปล่อย “ปลายี่สก” คืนสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งทางค่ายเขาจัดเตรียมลูกปลาไว้ให้ พร้อมมีรถกอล์ฟให้บริการ (นักท่องเที่ยวสามารถขับเองได้) เพื่อนำลูกปลาในถังไปปล่อยสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งแต่ก่อนราชบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งปลายี่สก แต่วันนี้ปลาชนิดนี้ลดน้อยลงไปมาก ทางค่ายภาณุรังษีจึงจัดกิจกรรมทำบุญปล่อยปลายี่สกแบบเก๋ ๆ ที่นักท่องเที่ยวหลายคนชอบไม่น้อย เพราะได้มีโอกาสขับรถกอล์ฟเท่ ๆ ไปในตัว
เกล็ดมังกร-ศาลกวนอู
จุดต่อไปเป็นเกล็ดมังกรที่ “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” หรือ “โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว” ตั้งอยู่บนถนนวรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง บริเวณริมน้ำ (สนามหญ้า) ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
ศาลเจ้าพ่อกวนอู เป็นศาลเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองราชบุรีมากว่า 100 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2414 เจ้าพ่อกวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ อดีตขุนพลนักรบผู้เก่งกาจสมัยเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์
อ.คฑา ระบุว่า ที่นี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองราชบุรี เพราะรับพลังมังกรจากสายน้ำแม่กลอง และองค์ศาลเจ้าพ่อกวนอูเปรียบกังเง็กเซียนฮ่องเต้ที่จะช่วยให้ผู้มาอธิษฐานขอพรสำเร็จสมหวัง หากทำดีประพฤติปฏิบัติดี
นอกจากองค์เจ้าพ่อกวนอูที่เป็นเทพเจ้าประธานของที่นี่แล้ว ภายในศาลแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ 2 องค์เทพเท้าที่ประทับอยู่ซ้าย-ขวา ขององค์เจ้าพ่อกวนอู คือ “เทพเจ้าลือโจวเซียนซือ” (ซ้าย) และ เทพเจ้าเอี่ยมกวงไตตี (ขวา), ป้ายคำสรรเสริญ, ตู้ไม้เก็บป้ายวิญญาณ และภาพวาดปูนปั้นฝาผนัง สามพี่น้อง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย
สันหลังมังกร-วัดหนองหอย
จากเกล็ดมังกรไปต่อกันที่สันหลังมังกร คือ “วัดหนองหอย พระอารามหลวง” ต.เขาแร้ง อ.เมือง เป็นวัดใหญ่อลังการตั้งอยู่บนเขาแร้งที่เปรียบเป็นสันหลังมังกรแห่งเมืองโอ่งราชบุรี ซึ่ง อ.คฑา บอกว่า เมื่อมายืนที่วัดหนองหอยบนยอดเขา จะได้รับพลังสันหลังมังกรจากน้ำ ไม้ ไฟ ดิน ทอง
วัดหนองหอย มีสิ่งก่อสร้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระอวโลกิเตศวร, พระพุทธรูปขนาดใหญ่, พระประจำวันเกิด, พระสังกัจจาย, ครูบาศรีวิชัย, เทพฮก ลก ซิ่ว, พระศิวะ, พระแม่ลักษมี, พระพิฆเณศ, ท้าวเวสสุวรรณ และองค์ “เจ้าแม่กวนอิม” ที่เป็นไฮไลท์ของวัดแห่งนี้ จนผู้คนเรียกขานเขาแร้งว่า “เขาเจ้าแม่กวนอิม”
เจ้าแม่กวนอิม วัดหนองหอย มีให้สักการะกัน 2 จุดหลักด้วยกัน คือเจ้าแม่กวนอิมปางยืนประทานพร องค์สีทองเหลืองอร่าม หัตถ์ขวาถือกิ่งสน หัตถ์ซ้ายทรงแจกันมณีบรรจุน้ำทิพย์แห่งความกรุณา ส่วนเจ้าแม่กวนอิมอีกจุดหนึ่ง เป็นปางประทับนั่งขนาดใหญ่ สูง 16 เมตร หน้าตักกว้าง 9 เมตร
นอกจากนี้ที่วัดหนองหอยยังประดิษฐาน “พระพุทธรัตนโกสินทร์มหามุณี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” องค์สีขาวเด่นสูงใหญ่ เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของที่นี่มีคนเดินทางมาสักการบูชากันไม่ได้ขาด
สำหรับใครที่มาเยือนวัดแห่งนี้มีข้อพึงควรระวังคือที่นี่มีลิงเยอะมาก หากเผลอมันจะย่องมาขโมยฉกของจากมือไปดื้อ ๆ ดังนั้นใครที่ไปวัดแห่งนี้ต้องเก็บข้าวของให้มิดชิด ไม่ควรนำมือถือมาเล่นในขณะที่เดินอยู่ภายในวัด ซึ่งทางวัดนอกจากจะใช้คนไล่ลิงแล้ว ก็ยังมีการนำตุ๊กตาจระเข้มาวางไว้ตามจุดต่าง ๆ เพื่อไล่เจ้าจ๋อจอมซนพวกนี้ด้วย จนตุ๊กตาจระเข้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจของวัดไป เด็กเล็กบางคนไม่รู้เห็นตุ๊กตาจระเข้ก็ยกมือขึ้นไหว้ดูน่ารักน่าเอ็นดู
ท้องมังกร-ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง
ส่วนท้องมังกรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวที่อยู่นอกอำเภอเมืองคือ “ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง (อาม่า)” ตั้งอยู่บนถนนริมน้ำตลาดบ้านโป่ง ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง เป็นศาลเจ้าริมน้ำรับพลังท้องมังกรจากแม่น้ำแม่กลองที่ไหลโอบอุ้ม
ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง หรือ “ศาลหม่าโจ้ว” (ชื่อเดิม) เป็นศาลเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบ้านโป่งมากว่า 100 ปีมี “องค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (อาม่า)” เป็นเทพประธานของศาลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือกันมาก มีเรื่องเล่าขานกันว่าท่านถูกอัญเชิญมาจาก อำเภอผู่ฉั่งจี่ จังหวัดฮกเกี้ยน ประเทศจีน เดินทางโดยทางเรือมาถึงแม่น้ำแม่กลอง เดิมมีชาวจีนผู้หนึ่งนำท่านมาบูชาที่บ้านตัวเอง ต่อมาเมื่อเขาแก่ชราจึงสร้างศาลไม้ให้เจ้าแม่หม่าโจ้วประทับริมแม่น้ำแม่กลอง เพื่อให้ผู้สนใจได้กราบไหว้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดบ้านโป่ง แต่ศาลหม่าโจว้ไม่ได้รับความเสียหาย เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจึงยิ่งขจรไกลมากยิ่งขึ้นไปอีก
หลังจากนั้นจึงมีการสร้างศาลใหม่ในบริเวณเดิมถือเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่อำเภอบ้านโป่ง ซึ่งภายในศาลยังคงมีรูปเคารพขององค์เจ้าแม่หม่าโจ้วองค์เดิมให้สักการะกัน
นอกจากนี้ชาวบ้านโป่งยังมีความเชื่อกันว่าทุก ๆ ปีในช่วงตรุษจีนองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วจะเดินทางขึ้นสวรรค์ไปไหว้องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงมีการปิดผ้าม่านที่ประทับขององค์เจ้าแม่หม่าโจ้วแห่งนี้ แต่ผู้คนก้ยังสามารถเข้ากราบไหว้ท่านได้
หางมังกร-ศาลเจ้าพ่อเสือ
ปิดท้ายส่วนหางมังกรกันที่ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” วัดใหม่ต้นกระทุ่ม” ต.บางป่า อ.เมือง เป็นวัดในบรรยากาศชนบทแวดล้อมไปด้วยเรือกสวนของชาวบ้านที่ถูกเลือกให้เป็นส่วนหางมังกร เนื่องจากที่นี่มีพลังของ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” หรือ “เทพตั่วเหล่าเอี๊ย” หรือ “หลีเอี๊ย” (ภาษาแต้จิ๋ว)
เจ้าพ่อเสือ บางข้อมูลระบุว่าเป็นเทพแห่งนักรบ ขณะที่ อ.คฑา บอกว่าเจ้าพ่อเสือเป็นราชองค์รักษ์ของนายกสวรรค์ ซึ่งเชื่อกันว่าหากใครได้มากราบไหว้ ท่านจะช่วยปกปกรักษา คุ้มครองชะตา ป้องกันภยันอันตรายให้เราแคล้วคลาด ปลอดภัย และเสริมมงคลในการขจัดสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ
สำหรับศาลเจ้าพ่อเสือ วัดใหม่ต้นกระทุ่ม มีลักษณะเป็นอุโมงค์ถ้ำเล็ก ๆ ภายในมีรูปเคารพเจ้าพ่อเสือ หรือ “หลวงปู่เสือ” ที่สร้างเป็นเสือโคร่งท่าทางสง่า ดูดุดันน่าเกรงขาม
ขณะที่ข้าง ๆ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของวัด ส่วนถัดไปที่ริมคลองมีอาคารที่สร้างในรูปแบบศาลเจ้าจีน แต่ภายในกลับมีพระพุทธรูปตามความเชื่อแบบพุทธของไทยให้สักการะบูชา โดยมีองค์หลวงพ่อสีดำเป็นพระประธาน ซึ่งถือเป้นการผสมผสานระหว่าง 2 ศาสนาที่แปลกไม่น้อยเลย
และนี่ก็คือ 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเส้นทางมังกรเมืองราชบุรี ตั้งแต่หัวถึงหางมังกร ที่ไม่ได้มีเพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนจีนเท่านั้น แต่มีการผสมผสานพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาแบบวิถีไทยเข้าไป เชื่อกันว่าหากใครได้กราบไหว้ แล้ว “คิดดี ทำดี ตั้งมั่นทำในสิ่งที่อธิษฐาน” ก็จะช่วยเสริมสิริมงคล เฮง เฮง เฮง รับพลังบวก ซึ่งแม้นี่จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลแต่ว่าก็ช่วยเสริมด้านกำลังใจได้ไม่น้อยเลย