xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก “อาวัฒน์” กับภาพมุก “เกาะขายหัวเราะ” ในตำนาน สู่ที่เที่ยวสุดอันซีนแห่งทะเลตราด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


เกาะขายหัวเราะ มุกติดเกาะในการ์ตูน กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตทะเลตราด
รำลึก “อาวัฒน์” นักเขียนการ์ตูนชื่อดังในระดับตำนานของเมืองไทยผู้จากไป ผ่านผลงานเขียนภาพมุก “เกาะขายหัวเราะ” ในตำนาน ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวสุดอันซีน “เกาะขายหัวเราะ” แห่งทะเลตราด

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการนักเขียนการ์ตูนไทย เมื่อ “อาวัฒน์” นักเขียนการ์ตูนชื่อดังระดับตำนาน ได้เสียชีวิตลงในวัย 89 ปี ที่ จ. อุทัยธานี ในช่วงเช้าของวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

อาวัฒน์ เป็นนามปากกาของ “วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ” ผู้มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนึ่งในนักเขียนการ์ตูนยุคบุกเบิกของบ้านเรา

อาวัฒน์ นักเขียนการ์ตูนในตำนานผู้ล่วงลับ (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
แม้ว่าจะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับด้านศิลปะการวาดภาพ แต่อาวัฒน์มีพรสวรรค์ พรแสวง และชื่นชอบในเรื่องของการวาดเขียนมาตั้งแต่เด็ก โดยมี “ประยูร จรรยาวงษ์” และ “พิมล กาฬสีห์” ผู้เขียนการ์ตูนชุด “ตุ๊กตา” เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ซึ่งอาวัฒน์ได้นำมาเป็นต้นแบบในการวาดการ์ตูนของเขา

ในสมัยที่เคยทำงานวาดการ์ตูนเด็กอยู่ที่ “การ์ตูนหรรษา” อาวัฒน์ได้รับการทาบทามจาก “บก.วิธิต” แห่งสำนักพิมพ์บรรลือสาสน์ให้มาร่วมทำการ์ตูนเด็กที่ชื่อ “เบบี้” ตั้งแต่ปี 2504 จนลายเส้นของเจ้าตัวกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างในนามปากกา “ตาโต”

หลังจากนั้นเขาก็เขียนการ์ตูนให้กับสำนักพิมพ์นี้ที่เดียวพร้อมทำหน้าที่ดูแลนิตยสาร “เบบี้” และเขียนปกนิตยสาร “ขายหัวเราะ” มาจนถึงปัจจุบัน

มุกติดเกาะ ผลงานการ์ตูนระดับตำนานของอาวัฒน์
สำหรับหนึ่งในภาพลายเส้นและมุกสุดคลาสสิกของอาวัฒน์ก็คือ “มุกติดเกาะ” กับภาพเกาะเล็ก ๆ ในทะเลที่มีต้นมะพร้าวหนึ่งต้น พร้อมด้วยมุกอันหลากหลาย จนลายเป็นหนึ่งในภาพลายเซ็นต์ของอาวัฒน์

แม้เกาะขายหัวเราะจะเป็นเพียงในการ์ตูน แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวสุดอันซีนแห่งทะเลตราด พร้อมเรียกขานเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะขายหัวเราะ” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากมุกติดเกาะในตำนานของอาวัฒน์นั่นเอง

เกาะขายหัวเราะ อันซีนทะเลตราด
สำหรับเกาะขายหัวเราะเดิมเป็นติ่งเล็ก ๆ ปลายเกาะนกนอก และเกาะนกใน ซึ่งเป็นเกาะบริวารของเกาะกระดาด เกาะขนาดย่อมๆ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเกาะหมาก แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทะเลตราด

เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาพบเจอเกาะเล็ก ๆ ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่โดดเดี่ยวคล้ายกับภาพในการ์ตูนขายหัวเราะ จึงตั้งฉายาให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้ว่า “เกาะขายหัวเราะ” ตามมุกติดเกาะของการ์ตูนอาวัฒน์

ต่อมา “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด” จึงได้ร่วมมือกับ “บริษัท บันลือกรุ๊ป” เจ้าของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ นำเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ มาโปรโมทเชิญชวนให้คนมาท่องเที่ยวทะเลตราด พร้อมกับเรียกขานเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ (อย่างเป็นทางการ) ว่า “เกาะขายหัวเราะ” ที่วันนี้ถือเป็นอันซีนแห่งทะเลตราดที่กำลังมาแรง และมีนักท่องเที่ยวอยากมาติดเกาะแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก

เกาะขายหัวเราะ อันซีนทะเลตราด
สำหรับคนที่มาเที่ยวทะเลตราดแล้วอยากจะไปติดเกาะขายหัวเราะ สามารถมาเริ่มต้นกันได้ที่เกาะหมาก แล้วติดต่อซื้อแพ็คเกจทริปท่องเที่ยวเกาะขายหัวเราะได้จากที่พักหรือบริษัททัวร์บนเกาะหมากในราคาประมาณ 700 บาทต่อคน (ราคาแล้วแต่ที่พักและช่วงเวลา)

ในทริปจะรวมค่ารถรับส่งจากที่พักไปที่แหลมสนบนเกาะหมาก (จุดลงเรือไปเกาะกระดาด) แล้วนั่งเรือเล็ก 7 คนไปเกาะกระดาด ใช้เวลาประมาณ 10 นาที า แล้วจึงต่อรถแทรกเตอร์ (หรือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) เที่ยวดูกวางและสวนมะพร้าวบนเกาะกระดาดไปจนถึงแหลม ร.5 ซึ่งอยู่ทางท้ายเกาะ

เกาะขายหัวเราะ อันซีนทะเลตราด
จากนั้น วิธีการเดินทางจากเกาะกระดาดไปยังเกาะขายหัวเราะจะมี 2 แบบ ขึ้นอยู่กับระดับน้ำทะเล

แบบแรกคือการเดินเท้าสำหรับช่วงที่น้ำทะเลลด โดยจากท้ายเกาะกระดาดเราจะมองเห็นสันทรายทะเลแหวกเป็นทางเดินไปสู่ “เกาะนกใน” ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ100 เมตร เดินเล่นสัมผัสน้ำทะเลเย็นสดชื่นเพียงไม่นานก็ข้ามมาถึงเกาะนกใน เกาะเล็กๆ ที่เดินเพียงเดี๋ยวเดียวก็ทะลุมายังอีกด้านหนึ่งของเกาะ

เดินลุยน้ำไปยังเกาะขายหัวเราะ
ตรงนี้ก็จะมองเห็นเกาะเล็กๆ ที่อยู่ถัดไป นั่นคือ “เกาะนกนอก” และมองเห็นสันทรายเป็นทางเดินไปสู่เกาะ ซึ่งทางเดินในทะเลช่วงนี้จะเป็นหินก้อนเล็กก้อนน้อยบนหาดทรายชวนให้เดินซวนเซ ใครถือกล้องหรือโทรศัพท์มือถือไว้ในมือก็จะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

ทั้งเกาะนกนอกและเกาะนกในนี้เหมือนเกาะฝาแฝดที่มีชื่อเรียกมาจากที่ชาวบ้านเห็นนกมาอาศัยอยู่บนต้นไม้บนเกาะมากมาย บนเกาะยังเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟและหินศิลาแลงกระจัดกระจายทั้งบนเกาะและบริเวณชายหาด ถือเป็นความน่าสนใจทางธรณีวิทยาอีกอย่างหนึ่ง

หามุมถ่ายรูป
และเมื่อเราเดินทะลุเกาะนกนอกมายังอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะมองเห็นจุดหมายของเราคือ “เกาะขายหัวเราะ” พร้อมต้นไม้โดดเดี่ยวตั้งเด่นกลางทะเล ซึ่งแม้ไม่ใช่ต้นมะพร้าวเหมือนในการ์ตูน แต่ก็เป็น “ต้นตะบัน” ที่กิ่งก้านและฟอร์มสวย และยังมีอายุมากนับร้อยปีอีกด้วย (จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่บนเกาะกระดาดที่เล่าว่าโตมาก็เห็นต้นไม้ต้นนี้สูงใหญ่อย่างนี้อยู่แล้ว) ถึงตรงนี้ก็เดินลุยทะเลมาติดเกาะกันได้เลย

ส่วนอีกหนึ่งวิธีเดินทางนอกจากการเดินเท้ามาในช่วงน้ำลดแล้ว หากเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงไม่สามารถเดินลุยข้ามเกาะได้ ก็จะมีเรือมาส่งตรงจากเกาะกระดาดถึงเกาะขายหัวเราะ ซึ่งแม้จะไม่ได้บรรยากาศการชมธรรมชาติและความสนุกสนานของการเดินลุยทะเลแหวกมา แต่อย่างไรก็ตามก็จะได้ชมความงามของ “เกาะขายหัวเราะ” ได้เหมือนกัน

นั่งรถอีแต๊กชมธรรมชาติบนเกาะกระดาด
ทั้งนี้การเที่ยว “เกาะขายหัวเราะ” นั้นขึ้นอยู่กับระดับน้ำเป็นสำคัญ หากมาในช่วงที่น้ำลงมาก ก็จะเห็นเกาะขายหัวเราะมีขนาดกว้างมากขึ้น มองเห็นก้อนหินใต้น้ำมากขึ้น แต่ถ้ามาช่วงน้ำขึ้นสูงก็จะยิ่งเห็นเป็นเกาะเล็กๆ ได้บรรยากาศของการติดเกาะมากขึ้น

ช่วงเวลาที่มาเยี่ยมชมก็มีส่วนสร้างบรรยากาศที่แตกต่างด้วยเช่นกัน หากมายามเช้าแสงแดดจะตกกระทบต้นไม้ด้านหน้าเกาะ
แต่หากมายามเย็นเห็นดวงอาทิตย์ตกด้านหลังเกาะพร้อมท้องฟ้าสีฉาบทองก็สวยไปอีกแบบ

ต้นมะพร้าวเอน มุมถ่ายรูปที่ต้องห้ามพลาดบนเกาะกระดาด
อย่างไรก็ดีแม้ตอนนี้ไฮไลท์และจุดสนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะมุ่งไปที่เกาะขายหัวเราะ แต่ก็ขอแนะนำว่าไม่ควรจะพลาดชมธรรมชาติที่เกาะกระดาด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ซาฟารีกลางทะเล” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์อันโด่งดัง

บนเกาะแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกวางฝูงใหญ่ซึ่งมีผู้นำมาเลี้ยงไว้และได้ออกลูกหลานมากมายนับร้อยในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมมาเที่ยวโดยการนั่งรถอีแต๊กชมบรรยากาศและชมกวางน้อยน่ารักบนเกาะกระดาดแห่งนี้

นอกจากนี้ก็อย่าลืมไปถ่ายรูปกับต้นมะพร้าวเอนริมหาด ซึ่งเป็นไฮไลต์ของเกาะกระดาดที่ไม่ควรพลาดเก็บภาพประทับใจไว้ด้วยประการทั้งปวง

วิวสวยๆ บนเกาะกระดาด
####################################################

นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะไปติดเกาะขายหัวเราะ ควรเตรียมชุดที่พร้อมเปียกน้ำ รองเท้าที่กระชับพร้อมลุยน้ำและเหยียบหินและทรายได้อย่างสะดวก และถุงกันน้ำสำหรับใส่กล้องและโทรศัพท์มือถือ โดยช่วงเวลาที่เหมาะจะมาเที่ยวหมู่เกาะตราดจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลระดับน้ำ ช่วงเวลาที่เหมาะสม รายละเอียดการเดินทางและรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในตราดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด โทร.0 3959 7259





กำลังโหลดความคิดเห็น